พระจันทร์เสี้ยวการละครขอไว้อาลัยต่อการจากไปก่อนเวลาอันควรของ แมน ทศพร มงคล คนทำหนังคนทำละครเวทีคนหนึ่งในบ้านเรา แมนเป็นสมาชิกพระจันร์เส้ยวการละรในช่วงปี 2542-2545 ส่วนใหญ่เป็นนักแสดง แล้วก็ไปทำงานในวงการหนัง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับหนังไทยหลายๆเรื่อง เขียนบทมและกำกับหนังสั้นของตัวเองอีกก็หลายเรื่อง นอกนั้นก็ยังทำละครเวทีบ้งซึ่งในช่วงหลังๆก็กำกับงาละครของกลุ่มละครสมมุต เราเลยขอข้อมูลที่เบสท์ วิชย รื้อเจอในคอมฯของแมน เราอยากนำมาแบ่งปันกันอ่านความคิดของเขาเพื่อระลึกถึงเขาตลอดไป
A Man Film
ผมเติบโตมาท่ามกลางชีวิตในชนบท สื่อเดียวที่จะเข้าถึงและมีอิทธิพลกับชีวิตก็คือโทรทัศน์
(สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่มี) เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ครั้งแรกๆที่ผมได้เข้าไปดูหนังในโรง
ภาพยนตร์มันเป็นแค่กิจกรรมฆ่าเวลาของเหล่านักศึกษาที่ไปเดินห้างแล้วไม่มีอะไรทำ
ช่วงเรียนปี 2 ผมมีโอกาสลงเรียนวิชาหนึ่งของคณะวารสารฯ(ผู้เขียนเรียนเศรษฐศาสตร์) ใน
ชั่วโมงเรียนนอกจากอาจารย์จะเล่าถึงโลกของภาพยนตร์ยังเปิดหนังให้ดู ผมเองจำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องอะไร จำได้แค่ว่าเก่ามากเพราะมันเป็นหนังขาวดำ สิ่งที่ผมรู้สึกกับหนังเรื่องนั้นมันมีมากกว่าหนังอื่นๆที่เคยดูมา(หรือก่อนนั้นแทบเรียกว่าเป็นการชมภาพยนตร์จริงๆไม่ได้เลย) ผมเข้าเรียนวิชานั้นตลอดไม่เคยขาด เพื่อจะได้ดูหนังแปลกๆ ความชื่นชอบทำให้ผมเลือกเรียนภาพยนตร์เป็นวิชาโทและวิชาเสรี
โอกาสหนึ่งผมได้เลือกศึกษางานของผู้กำกับที่เป็นศิลปินตามทฤษฎีผู้ประพันธกร ผมเลือก
ศึกษางานของ หว่องคาไว หนังแทบทุกเรื่องของเขามีเสน่ห์และบอกเล่าความรู้สึกของคนได้จริงๆ อาจเป็นเพราะความเป็นเอเชีย ด้วยวัฒนธรรม การแสดงออกตัวละคร ถึงแม้หนังบางเรื่องจะไม่มีบทบรรยายไทย ผมเองก็ดูและรู้สึกกับภาพที่เขาเล่า
มีบทความหนึ่งสัมภาษณ์หว่องคาไว เขาบอกต้องรีบทำหนังให้แม่ดูก่อนแม่เขาจะจากไป(แม่เขาชอบดูหนัง) และเขาคิดว่าแม่ก็คงต้องชอบหนังของเขาด้วย ผมเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที ผมจะทำ หนังให้แม่ดู (ผู้เขียนก็รักแม่เหมือนกัน)
หลังเรียนจบโอกาสทางสายงานทำให้ผมได้เริ่มทำละครโทรทัศน์และมีส่วนเกี่ยวข้องกับ
ภาพยนตร์ไทยบ้าง โลกของความเป็นจริง ในการผลิตงานชิ้นหนึ่งมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนๆเดียวคือผู้กำกับ(ตามที่ผู้เขียนเรียนและเข้าใจ) ความแข็งแกร่งในความเป็นตัวตนมันทำได้น้อยกว่าในบริบทของสังคมไทย ผมได้มีโอกาสไปเทศกาลหนังสั้นกับเพื่อน นั้นแหละคือโอกาส ผมทำหนังยาวไม่ได้ผมก็ทำหนังสั้นซิ(ผู้เขียนบอกกับตัวเอง) แต่จะเริ่มอย่างไรล่ะ ผมไม่เคยเรียนเขียนบท สิ่งที่ผมทำในตอนนั้นคือ หลับตาเขียน รู้สึกอะไร อยากเล่าอะไร มองเห็นภาพอะไรบ้างก็เขียนออกมา บทสำเร็จ แต่เสียงตอบรับ จากหลายๆคนที่อ่าน ทำให้งานชิ้นนั้นเป็นอันพับเก็บใส่กระเป่๋า แล้วผมก็ดำเนินชีวิตเป็นแค่ส่วนหนึ่ง
ของละครน้ำเน่าในโทรทัศน์่ต่อไป
ผ่านไป 2 ปี เพื่อนคนหนึ่งมาจุดประกายให้ผมทำหนังสั้น บทที่เคยพับเก็บไปแล้วเพื่อนผมคนนี้
เขาชอบ หนังสั้นเรื่องแรกของผมจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ประสบการณ์ในงานที่ผ่านมามันไม่ไร้ค่า ผมเอาเทคนิคหลายๆอย่างมาช่วยในงานชิ้นนั้น ก็ผมเป็นทุกอย่างในกองตั้งแต่บท,กำกับ,ถ่ายภาพ,ตัดต่อ จนกระทั่งแสดงเองในบางฉาก(นี่แหละอุตสาหกรรมหนังสั้นไทยที่แท้จริง)
ผ่านมาเกือบ 10 ปี แม้จะพยายามเลี่ยงไปทำงานอื่น ผมก็ยังวนเวียนกลับมาสู่โลกภาพยนตร์
ไทยอยู่ดี ที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของอุตสาหกรรมในสายงาน บางทีเราก็ต้องทำงานตอบโจทย์ บางทีเราก็ทำงานที่เรารัก บางทีงานที่เราไม่ชอบรวมทั้งคนที่เราเกลียดก็สอนอะไรเราได้บางอย่าง แน่นอนสุดท้ายเราเองก็ต้องเป็นคนเลือกงาน(จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปทะเลาะกันในกองถ่าย) และผมก็ยังทำหนังสั้นอยู่เรื่อยๆ แม่ผมได้ดูหนังแทบทุกเรื่อง(บางเรื่องแรงไปเขาคงไม่ดู)
ผมยังคงมีเรื่องที่จะเล่าเพราะหนังสำหรับผมก็คือชีวิต ทุกชีวิตที่รายล้อมรอบตัวคือแรงบันดาลใจในการทำหนังเพื่อสื่อสารต่อไป
ผมดูหนังมาเยอะแค่ไหน ไม่แน่ใจ เพราะผมไม่เคยจำชื่อเรื่อง ชื่อผู้กำกับ หรือแม้แต่นักแสดงได้เลย ผมจำได้แต่เพียงหนังเรื่องนั้นที่เล่าเรื่องนี้ ผมดูแล้วรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวละครที่เล่นบทนี้เล่นได้ดีไม่ดีอย่างไง บ่อยครั้งหนังบางเรื่องที่ดูก็เข้าใจไปคนละเรื่องกับที่ตัวละครพูดแต่ก็เข้าใจจากสิ่งที่เห็น และตีความไปเอง ผมเลือกซื้อหนังจากร้านทางเลือก(เมื่อก่อนเราก็เรียกว่าร้านวิดีโออาร์ท ปัจจุบันก็คงเปลี่ยนเป็นร้านดีวีดีหนังอาร์ทหรือร้านแผ่นเถื่อนนั้นเอง) วิธีเลือกหนังผมจะดูจากรุูปและเรื่องย่อ(หลายทีผู้เขียนก็ซื้อหนังมาซ้ำเพราะร้านเปลี่ยนปกแต่จำชื่อเรื่องไม่ได้สักที)
ผมไม่รู้ว่าอะไรเรียกว่าคอหนังที่แท้จริง การเข้าโรงหนังแทบทุกวันบางทีไม่ต่างกับเด็กว่างงาน
หรือเสาะหาปีืนบันไดดูหนังยากๆ ความสุขในการดูหนังคนเราไม่เหมือนกัน หนังบางเรื่องที่ผมบอกว่าดูไม่รู้เรื่องแต่ผมก็รู้สึก เพราะหนังมันคือชีวิต โลกเป็นจริงกับโลกความฝันของหนังมันคาบเกี่ยวกันอยู่ แม้ผมจะไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวหรือชุมชนที่เกี่ยวกับหนังเหมือนอย่างเด็กหนุ่มในภาพยนตร์เรื่อง ซีนีม่า พาราดิโซ่ แต่ความสุขเมื่อได้เข้ามาสัมผัสในโลกของหนังก็กลับทำให้ผมยังคงวนเวียนอยู่กับหนังต่อๆไป
เขียนโดย ทศพร มงคล
***ขอขอบคุณข้อมูลจาก เบสท์ วิชย***
No comments:
Post a Comment