03 May 2017
10 Minute Play #1 ในนิตยสาร Art Square
แค่เพียงสิบนาที: 10 Minute Play Project
Text: ภาสกร อินทุมาร
Photo: อดิเดช ชัยวัฒนกุล
จาก : นิตยสาร Art Square
ข้อจำกัดหนึ่งของการเรียนทางด้านการละครในประเทศไทยก็คือการขาดแคลนบทละครที่เขียนขึ้นภายใต้บริบทสังคมไทยร่วมสมัย แม้ว่ากลุ่มละครต่างๆจะได้ผลิตบทละครเพื่อการจัดแสดงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่บทละครเหล่านั้นก็อาจจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์สาขาการละครในมหาวิทยาลัยต่างๆได้นำไปใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติ เช่น การแสดง (acting) และการกำกับการแสดง (directing) ในการเรียนวิชาเหล่านี้ นักศึกษาจะต้องฝึกปฏิบัติผ่านฉากย่อยของบทละคร (scene work) ซึ่งที่ผ่านมานั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องฝึกปฏิบัติด้วยบทละครของต่างประเทศที่แปลมาเป็นภาษาไทย ซึ่งบทละครเหล่านั้นก็ล้วนผูกโยงอยู่กับบริบททางสังคมของประเทศเหล่านั้น และนั่นก็ทำให้นักศึกษามีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจและตีความตัวบท
อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามในการตีพิมพ์และเผยแพร่บทละครร่วมสมัยของไทย ดังจะเห็นได้จากการตีพิมพ์หนังสือ “First Read บทละครหลากสี มีดีที่หลากหลาย” ในปี 2554 โดยเครือข่ายละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Network) สนับสนุนการจัดพิมพ์โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการวิเคราะห์รูปแบบและเนื้อหาของบทละครร่วมสมัยที่จัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ และมีตัวอย่างบทละคร 4 เรื่อง ที่สะท้อนบทวิเคราะห์ดังกล่าว ความพยายามนี้เป็นหลักหมายสำคัญในการนำเสนอบทละครร่วมสมัยของไทยต่อสาธารณะ และเป็นหนังสือที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนละครร่วมสมัยของไทย
ถึงแม้จะมีความพยายามดังกล่าว บทละครที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นบทละครที่ค่อนข้างยาว ซึ่งหากนักศึกษาจะนำไปฝึกปฏิบัติ ก็อาจจะต้องดึงเอาบางช่วงบางตอนของบทไปใช้ ซึ่งนั่นก็เป็นข้อจำกัดเช่นกัน เพราะบทละครมีการเชื่อมร้อยต่อเนื่องกัน การตัดตอนออกไปอาจจะทำให้ตอนที่นำไปใช้หลุดลอยออกจากบริบทของละครทั้งเรื่อง ด้วยเหตุนี้ ในปี 2555-2556 ที่ผ่านมา “พระจันทร์เสี้ยวการละคร” (Crescent Moon Theatre) จึงริเริ่มโครงการ “10 Minute Play” ขึ้น ดังที่ สินีนาฏ เกษประไพ แห่งพระจันทร์เสี้ยวการละครได้กล่าวไว้ว่า
“ที่ผ่านมาเวลาทำ scene work เด็กที่เรียนละครส่วนใหญ่ต้องเอาบทละครของฝรั่งมาใช้ ซึ่งบทพวกนี้มันก็ไม่เข้ากับบริบทของไทย เด็กก็ไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ เราก็เลยอยากสร้างบทละครขนาดสั้นที่เขียนขึ้นในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย ตั้งไว้ว่าความยาวประมาณ 10 นาที อาจจะบวกลบได้นิดหน่อย เป็นบทที่เด็กที่เรียนละครสามารถเอาไปทำ scene work ได้ทั้งเรื่อง”
และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของโครงการ โดยครั้งแรกจัดขึ้นระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2555 และครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน 2556 เป็นการให้ผู้สนใจส่งบทละครที่เขียนขึ้นใหม่ด้วยตัวเองเข้ามารับการคัดเลือก และบทละครที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปจัดแสดงในรูปแบบการอ่านบทละคร (play reading) อย่างไรก็ดี ในครั้งที่ 2 นั้น มีบทละครที่ผ่านการคัดเลือกเพียง 3 เรื่อง ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเกินไปสำหรับการจัดแสดงครั้งหนึ่งๆ ผู้จัดจึงเก็บบทละครทั้ง 3 เรื่องไว้เพื่อจัดแสดงร่วมกับบทละครที่จะมาจากโครงการครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
ในการได้มาซึ่งบทละครที่มีคุณภาพที่เหมาะสมนั้น สินีนาฏ ได้ออกแบบโครงการนี้ในลักษณะ “กระบวนการ” ด้วยเห็นว่ากระบวนการเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าผลลัพธ์ กระบวนการที่ว่านั้นก็คือ สินีนาฏได้ชักชวนนักการละครอีก 2 คนมาร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกบทละคร ทำให้ได้องค์ประกอบของกรรมการที่หลากหลายมิติ สินีนาฏเองเป็นนักการละครที่มีประสบการณ์ในการผลิต กำกับ และแสดงละครมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่วนอีก 2 คนที่เหลือก็คือ อรดา ลีลานุช อาจารย์สอนวิชาเขียนบทละครในมหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้เขียนผู้ซึ่งเป็นนักวิชาการละครในเชิงสังคม ทั้ง 3 คนจะร่วมกันพิจารณาบทละครผ่านแง่มุมทั้งในทางศิลปะการละครและแง่มุมทางสังคมในบทละคร
ในโครงการครั้งแรกนั้น มีผู้ส่งบทละครมาเข้ารับการพิจารณาทั้งหมดประมาณ 40 เรื่อง เมื่อได้บทละครมาแล้ว กรรมการแต่ละคนจะอ่านบทละครทั้งหมด จากนั้นจึงมาประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกว่าเรื่องใดมีคุณภาพที่เหมาะสม โดยที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในเชิงจำนวนไว้ ในการประชุมเพื่อคัดเลือกบทละครนั้น กรรมการแต่ละคนจะให้น้ำหนักกับเรื่องที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมไว้ก่อน จากนั้นจึงมาแลกเปลี่ยนมุมมองและอภิปรายร่วมกัน โดยแง่มุมที่ใช้ในการพิจารณานั้นก็คือ บทที่เขียนมานั้นมีลักษณะของความเป็นบทละครหรือไม่ เนื้อหาหรือประเด็นของเรื่องสะท้อนสภาวะสังคมร่วมสมัยอย่างไร และมีความเป็นไปได้ในการจัดแสดงจริงหรือไม่ ซึ่งในกระบวนการพิจารณานั้นทำให้พบว่าบทละครบางเรื่องมีศักยภาพที่จะเป็นบทละครที่ดีได้ แต่อาจจะยังมีข้อจำกัดหรือข้ออ่อนบางประการ ดังนี้แล้ว กรรมการจึงเชิญผู้เขียนบททั้งหมดมาแลกเปลี่ยนมุมมองกับกรรมการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงบทละครให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการแลกเปลี่ยนนั้น ผู้เขียนบททุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อบทละครของคนอื่นๆด้วย มิใช่เพียงกรรมการเท่านั้นที่เป็นผู้แสดงความเห็น กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการพัฒนาตัวบท ซึ่งในที่สุดนั้น โครงการครั้งแรกก็ได้บทละครที่มีคุณภาพที่เหมาะสมจำนวน 8 เรื่อง โดยที่ผู้เขียนทั้ง 8 คน มีตั้งแต่นักการละครที่มีประสบการณ์ไปจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย
เมื่อได้บทละครที่ปรับแก้จนเหมาะสมมาแล้ว ผู้เขียนบททุกคนจะได้พบกับผู้กำกับการแสดงที่จะนำบทละครไปทำการอ่านบทละคร โดยผู้กำกับการแสดงทั้งหมดเป็นผู้กำกับการแสดงรุ่นใหม่ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ผู้กำกับการแสดงแต่ละคนจะได้อ่านบทละครทั้ง 8 เรื่อง และทำการเลือกว่าตนเองสนใจที่จะนำเรื่องใดไปทำ จากนั้นจึงเป็นการออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำกับการแสดงกับผู้เขียนบท อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทบางคนเลือกที่จะรอดูว่าบทของตนจะถูกตีความและถูกนำเสนออย่างไรโดยไม่เข้าไปให้ความเห็นต่อผู้กำกับการแสดง
ในกระบวนการพัฒนาบทละครนั้น ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งก็คือการนำบทที่ได้มาทำการอ่านแบบตีความ (oral interpretation / dramatic reading) ซึ่งในการอ่านบทละครนั้นจะมีการแสดง (acting) ประกอบร่วมอยู่ด้วย แต่เป็นการแสดงที่นักแสดงยังไม่จำเป็นต้องวางบท และอาจมีองค์ประกอบทางการละครด้านอื่นๆเข้ามาเสริมการตีความด้วยก็ได้ เช่น การใช้แสง การเลือกเสื้อผ้า แต่ทั้งนี้ การอ่านบทละครที่เกิดขึ้นจะยังมิใช่การแสดงเต็มรูปแบบ ความสำคัญของกระบวนการอ่านบทละครก็คือการทดสอบว่าบทละครที่เขียนขึ้นนั้นสามารถเป็นละครเวทีได้จริงหรือไม่ แม้ว่าจะเป็นได้ แต่มีข้อจำกัดใดหรือไม่เมื่อนำมาทดลองแสดง หากพบข้อจำกัด ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงตัวบทให้เหมาะสมสำหรับการแสดงต่อไป ดังนี้แล้ว การอ่านบทละครจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาบทละคร
เมื่อกลับไปพิจารณาที่ตัวบทของทั้ง 8 เรื่อง จะพบว่ามีความแตกต่างหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็ทำหน้าที่สะท้อนสังคมไทยร่วมสมัย ไม่ว่าบทละครเรื่องนั้นจะออกมาในแนวสนุกสนาน หรือเป็นบทที่เคร่งขรึมก็ตาม บทละครดังกล่าวคือ “อยาก” โดย ธีรกานต์ ไม้จันทร์ เป็นบทละครแนวสนุกสนานที่เสียดสีสังคมของบรรดาพ่อแม่ต่างๆที่อยากให้ลูกตัวเองเหนือกว่าลูกคนอื่น พ่อแม่เหล่านี้ต่อหน้าก็พูดจาดีต่อกัน แต่ลับหลังก็แข่งขันกัน “ร้านชำซอยสี่” โดย ฉันทลักษณ์ อดิลักษณ์ เป็นแนวสนุกสนานเช่นกัน แต่ก็เป็นการตั้งคำถามกับผู้คนที่ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้โดยไม่พยายามสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่อยากจะได้มันมาแบบสำเร็จรูป “เรื่องเหี้ยเหี้ย” โดย ลัดดา คงเดช เป็นเรื่องที่พูดถึงคนที่ต้องการออกจากกรอบที่สังคมกำหนด แต่เอาเข้าจริงๆแล้วก็ไม่ออกไปไหน “เครื่องพุ่งทะยานหมายเลข 4” โดย จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ ว่าด้วยเรื่องราวของเพื่อนที่สนับสนุนความใฝ่ฝันของเพื่อนแม้ว่าตนเองจะไม่เห็นด้วยกับความฝันนั้นก็ตาม “พลูโตที่รัก” โดย อรุณโรจน์ ถมมา ว่าด้วยความเป็นปัจเจกบุคคลของคนสองคน ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองต้องห่างออกจากกันไป ไม่ว่าจะเลือกความเป็นปัจเจกหรือเลือกความสัมพันธ์ ก็ดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่ “ธันยาและพ่อ” โดย นภัค ไชยเจริญเดช เป็นเรื่องที่ตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาว ว่าเพราะเหตุใดลูกสาวจึงมักแสดงอาการรำคาญความเป็นพ่อโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าพ่อจะเป็นคนที่ใกล้ตัวและรักเธอที่สุดก็ตาม “A Love Song” โดย อรดา ลีลานุช บทละครที่เป็นประหนึ่งบทกวี ที่มีพื้นที่ให้กับการตีความที่หลากหลาย และ “ขมขื่นในความเงียบ” โดย สินีนาฏ เกษประไพ ที่เกิดความสะเทือนใจจากการที่ผู้หญิงชนกลุ่มน้อยในพม่าเป็นจำนวนมากถูกทหารข่มขืนโดยดูเหมือนจะไม่มีใครให้ความสนใจ ขณะที่ตอนนี้คนจำนวนมากกำลังสนใจประเทศพม่าในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ เรื่องราวของผู้หญิงเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในความเงียบเช่นเดิม
บทละครเหล่านี้ได้ถูกผู้กำกับการแสดงนำไปตีความและออกแบบเพื่อการแสดงอ่านบทละคร โดยใช้ระยะเวลาการทำงานเพียงประมาณ 2 สัปดาห์ และได้เปิดแสดงที่โรงละครพระจันทร์เสี้ยว และหลังการแสดงในแต่ละรอบ ก็มีการเสวนาร่วมกับผู้ชม โดยผู้ชมจะร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทั้งประเด็นและวิธีการนำเสนอ รวมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองกับทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดง ซึ่งเวทีเสวนาเช่นนี้ก็คือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ชม เพราะเสียงของผู้ชมก็คือองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาศิลปะการละคร
ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ร่วมในกระบวนการนี้ อาจทำให้มองได้ว่าผู้เขียนพยายามจะมองแต่ด้านดีของโครงการ ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ผู้เขียนก็ยังเห็นว่าโครงการนี้ได้เดินไปไกลกว่าเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้ กล่าวคือ สิ่งที่ตั้งไว้ก็คือการได้บทละครขนาดสั้นที่เขียนขึ้นภายใต้บริบทสังคมไทยร่วมสมัย ที่นักศึกษาด้านการละครสามารถนำไปใช้ในการฝึกปฏิบัติ แต่เมื่อกระบวนการสิ้นสุดลง สิ่งที่พบก็คือความจริงที่ว่า การจะได้มาซึ่งบทละครที่ดีนั้น มิใช่เพียงผู้เขียนบทนั่งเขียนบทอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง แต่บทละครที่ดีนั้นจะต้องได้มาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งประสบการณ์ในทางปฏิบัติของนักการละคร ประสบการณ์ที่เป็นแง่มุมด้านหลักการเขียนบท ประสบการณ์ที่เป็นมุมมองเชิงสังคม และประสบการณ์ในฐานะผู้ชมละคร ข้อค้นพบชุดนี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามต่อการเรียนการสอนวิชาเขียนบทละครที่เป็นอยู่ในสังคมไทยว่าการเรียนการสอนดังกล่าวเป็นเช่นไร นอกจากนี้ กระบวนการดังที่กล่าวมา รวมทั้งข้อค้นพบ และบทละครทั้ง 8 เรื่อง จะถูกนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือและเผยแพร่ต่อไป เพื่อที่ว่าหนังสือเล่มนี้จะได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศิลปะการละครในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเขียนบทละครเวที
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment