25 June 2010

คือผู้อภิวัฒน์รอบแรก

ละครเวที คือผู้อภิวัฒน์ รอบแรก รอบพิเศษ ๑๕.๐๐ น. แสดงแล้วที่หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์


ชมภาพจากการแสดง




อ่านบางส่วนจากบทวิจารณ์เมื่อเปิดแสดงครั้งแรก เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว


คือผู้อภิวัฒน์ แบบฝึกหัดขั้นสูงที่สมบูรณ์ของศิลปะการละคร

“...ในด้านของเทคนิคและกลวิธีการละคร คือผู้อภิวัฒน์ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดขั้นสูงที่สมบูรณ์ของศิลปะการละคร จะว่าเป็นละคร ‘เอพิค’ ตามแบบฉบับของเบรคชท์อย่างตายตัวก็เห็นจะไม่ใช่ ผู้กำกับการแสดงคงจะได้สั่งสมความรู้ในด้านกลวิธีมาอย่างกว้างขวาง และก็สามารถติดต่อเลยไปจากเท็คนิคที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แม้กระทั่งการเล่นพื้นบ้านของไทยบางอย่างก็นำมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะ เช่นในฉากที่แสดงให้เห็นถึงการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาครอบครองอำนาจทางการเมืองของคนบางกลุ่มในสังคมไทย ก็มีการนำเอาการละเล่น ‘รีรีข้าวสาร’ มาสื่อความซ้ำซากจำเจของปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างดียิ่ง
ในด้านของลักษณะที่เป็นละครแบบ ‘เล่าเรื่อง’ ก็พัฒนาไปได้ไกลกว่าละครของเบรคช์เสียอีก คือมิได้ใช้ตัวละครที่รับหน้าที่เฉพาะเป็นผู้เล่าเรื่อง เช่นในละครเรื่อง กาลิเลโอ หรือ วงกลมคอเคเชียน แต่ให้ตัวแสดงผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่นี้ บางครั้งก็ให้ตัวละครที่กำลังรับบทบาทการแสดงละครอยู่เปลี่ยนจากการแสดงมาเป็นการเล่าเรื่องโดยฉับพลัน ซึ่งก็น่าประหลาดที่มิได้เป็นการทำให้เสียรสแต่ประการใด เพราะแทนที่เราจะเกิดความรู้สึกว่าการแสดงสะดุดหยุดลง เราก็เพียงแต่รู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนจังหวะเท่านั้น นับเป็นนวกรรมทางศิลปะการแสดงที่น่าจะได้มีการพัฒนากันต่อไป

ในด้านของการใช้คนดูให้เป็นส่วนหนึ่งของละคร ที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า audience participation ก็เป็นไปในแบบที่เราในฐานะผู้ชมตั้งตัวรับไม่ทัน ตัวละครเดินลงจากเวทีมาแจก ‘ประกาศคณะราษฎร’ ที่เป็นเอกสารอัดสำเนาให้แก่ผู้ชม (ขอตั้งข้อสังเกตว่า กระดาษที่ใช้อัดสำเนา คุณภาพเลวมาก คงจะเป็นไปตามทุนรอบอันจำกัดจำเขี่ยของผู้จัดแสดง ถ้าเป็นละครโรงอื่นคงใช้กระดาษอาร์ตชั้นดีเป็นแน่!) กลวิธีที่ว่านี้ไปได้ไกลกว่าละครของเบรคช์ คือแทนที่จะฝากสาส์นจากตัวบทละครให้ผู้ชมกลับไปคิดที่บ้าน (เช่นกรณีของปัจฉิมบทของ คนดีที่เสฉวน) ผู้ชมกลับได้สาส์นในรูปของเอกสารติดมือกลับไปอ่านที่บ้าน เป็นการให้โอกาสผู้ชมให้วินิจฉัยด้วยตัวเอง และก็มีผู้ชมจำนวนหนึ่งที่คิดค้านทัศนะของ ‘คณะราษฎร’ นั่นคือการวางตัวเป็นกลางในการสร้างละครประวัติศาสตร์ ด้วยการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ‘เปิดปากพูดด้วยตัวเอง’ เป็นการปลุกวิจารณญาณของผู้ดูผู้ชมในกรอบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์

ในตอนจบเรื่องก็เช่นกัน ผู้แสดงนำกล่าวไว้กับผู้ชมว่า เขาไม่สามารถที่จะเผยแสดงความจริงบางประการในขณะนี้ได้ และขอฝากไว้ให้เป็นเรื่องของอนาคตเป็นการเปิดทางไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่อยู่นอกกรอบของงานศิลปะ ละครจริงๆ อาจจะหยุดด้วยเงื่อนไขของเวลาเมื่อตัวผู้อภิวัฒน์ถึงแก่อสัญกรรม แต่ละครในจินตนาการและในความนึกคิดของผู้ดูยังดำเนินต่อไป ผู้ชมได้การบ้านอันหนักหน่วงติดตัวไปด้วย เป็นการเปิดประตูไปสู่ความหวังว่า โลกแห่งอนาคตจะเป็นโลกที่ดีกว่าปัจจุบัน เพราะจะเป็นโลกที่กล้าเผชิญกับความจริง
ถ้าเบรคช์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะภาคภูมิใจเป็นอันมากว่า เขามีเพื่อนในประเทศโพ้นทะเลที่นำสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของเขาไปคิดต่อและไปประยุกต์ใช้ได้อย่างดี อาจจะดีกว่าที่เขาลงมือทำเอง หรือที่สานุศิษย์ของเขาในเยอรมันเองได้ทำมาแล้วเสียอีก

เขียนโดย เจตนา นาควัชระ
บางตอนจากบทความเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์...ทางอันแจ่มใสของละครเวทีไทย
พิมพ์ครั้งแรก : ถนนหนังสือ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ (สิงหาคม ๒๕๓๐)

สำหรับผู้สนใจชมรอบปกติ
แสดง ๒,๓ และ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๙.๓๐ น. (เสาร์ อาทิตย์ เพิ่มรอบ ๑๔.๓๐ น.)
บัตรราคา ๓๐๐ บาท (นักเรียน นักศึกษา ๒๕๐ บาท)
สำรองที่นั่ง โทรศัพท์ ๐๘๓ ๙๙๕๖๐๔๐ และ ๐๘๑ ๕๒๕๗๖๗๑

No comments: