09 April 2013
"ภาพลวงตากจากเนินมะเฟือง" อีกหนึ่งเสียงสะท้อน
ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง ของดีถูกรื้อจากตู้มาปัดฝุ่น
by Nung Phongpan (Notes) on Wednesday, 3 April 2013 at 14:23...
หนังสือรวมเรื่องสั้นของศรีดาวเรือง และนักเขียนรุ่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถูกเก็บใส่กล่องตั้งแต่ผมเรียนจบเริ่มทำงาน
เวลาที่มีให้วรรณกรรมเหล่านี้มีน้อยลงน้อยลงทุกที ปีนึงจะมีเวลาอ่านวรรณกรรม สองเล่ม หรือ หนึ่งเล่มหนาๆ ช่วงที่ได้หยุดงานยาวเท่านั้น มักเป็นหนังสือใหม่ๆที่มีคนพูดถึง หรือนิยายแปลเล่มเขื่องที่อยากอ่าน
วรรณกรรมเพื่อชีวิตเหมือนคนแปลกหน้าสำหรับผมเข้าไปทุกทีๆ
จนเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเหมือนมีคนมาช่วยสำรวจหนังสือและของเก่าเก็บหยิบมาปัดฝุ่น ให้ผมเห็นความสำคัญของวรรณกรรมแนวนี้อีกครั้ง ละครเวที ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง ของกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยวนำเรื่องสั้น 2 เรื่องของศรีดาวเรือง มาสร้างเป็นละครเวที 2 เรื่องโดยมีทางรถไฟเป็นเส้นทางเชื่อมละครทั้งสอง
เรื่องแรก ภาพลวงตาฯ เปิดเรื่องด้วยเพลง รักและคิดถึงของ พัชรา แรงวรรณบอกกลายๆว่า คนทำได้ไปรื้อค้นเทปเก่าๆมาเปิดให้ฟัง และพาเราสำรวจความทรงจำเก่าๆอีกครั้ง
ละครเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เจอกันบนรถไฟตั้งแต่เป็นคนแปลกหน้าจนเป็นคนสนิท ผ่านมุมมองหลากหลายของ ผู้โดยสารคนอื่นๆบนรถไฟขบวนเดียวกันและตัวละครหนุ่มสาวทั้งสอง
ภาพที่ผู้โดยสารคนอื่นๆเห็น ความสัมพันธ์หนุ่มสาวจากคนเริ่มรู้จักจนสนิทแนบแน่นเป็นคนรัก ทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นคนสองคนนี้ รู้สึกเหมือนอยู่ในนิยายรักละครรักหวานแหวว
แต่เมื่อละครเดินเรื่องมาถึงส่วนที่เป็นมุมมองของฝ่ายชายฝ่ายหญิงหญิงภาพที่คนอื่นเห็นเป็นภาพลวงตา เป็นภาพฉาบหน้าที่เราคิดว่าใช่แท้ที่จริงสิ่งที่เก็นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง มุมมองของสองคนนี่ทำให้เราเห็นอีกด้านของความรักของคนทั้งสองที่มีทั้งความแปลกประหลาด ซับซ้อน นี่ไม่ใช่คู่รักตามแบบ ประเพณีนิยมแต่เป็นคู่รักที่นอกเหนือจารีตของสังคม เพราะฝ่ายหญิงมีสามีอยู่แล้ว ฝ่ายหญิงแนะนำสามีให้รู้จักฝ่ายชายรู้ขอบเขตของตัวเอง เขาเป็นเจ้าของเธอเฉพาะอยู่บนรถไฟ ความซับซ้อนทางความสัมพันธ์ราวๆกับตัวละครในนิยายของMarguerite Duras
บนเวทีนำเสนอบรรยากาศการโดยสารรถไฟชานเมืองเข้ามาทำงานในเมืองได้อย่างฉลาดทำใช้เก้าอี้ไม่กี่ตัวจัดวาง มีภาพวิดีโอฉายภาพข้างทางที่รถไฟวิ่งผ่านนักแสดงแสดงอย่างเรียบๆ เบาๆ เหมือนภาพวาด impressionism วาดภาพบนเวที
บทละครใช้แทบทุกคำพูดจากบทประพันธ์จัดวางเวลาเดินเรื่องใหม่ให้ทุกมุมมองอยู่เส้นเดียวกันซึ่งทำได้กระชับ หลากอารมณ์ และมีจุดพลิก จุดตึง จุดผ่อน เกิดขึ้นในพริบตาและน่าสนใจ
นักแสดงทั้งสี่รับส่ง ปูอารมณ์จากความโรแมนติก พาเราไปถึงระดับการมองทะลุผ่านภาพลวงตาของความรักไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความรักที่แท้จริง
นักแสดงสี่คน สร้างภาพของตัวละครรักกันแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
ในฉากใกล้ชุมชนรถไฟไทย อบอวนไปด้วยกลิ่นความอ้อยอิ่ง เหงา โหยหา
ซึ่งอีกไม่นานภาพชุมชนตรงนี้คงจะหายไปพร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าสีต่างๆ
อารมณ์โหยหาอดีต เด่นชัดมากขึ้นในละครเรื่องที่สอง เนินมะเฟือง เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานึงของชุมชนเล็กในชนบท ที่รถไฟในเมืองวิ่งผ่านมาผ่านไป
ละครจับที่ชีวิตของเด็กๆในชุมชมที่เป็นตัวละครเด็กโต 4 คน ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อราวกับสะท้อนภาพจริงของเยาวชนในชนบททั่วไทยในยุคสมัยที่ยาเสพติดยังไม่แพร่ระบาดโครงการหว่านเม็ดเงินลงชุมชนยังไม่เกิด เราจึงเห็นภาพความไร้เดียวสาของคนในชุมชนและตัวละครทั้งสี่ โลดแล่น เรียกรอยยิ้มจากคนดูในช่วงแรกๆ เป็นวันเก่าๆที่สังคมชนบทยังไม่มีมลพิษมากเท่าพศ.นี้ถึงกระนั้นจุดคลื่คลายของบางตัวละคร เหมือนคนเขียนทำนายอนาคต เยาวชนไทยของประเทศว่าเป็นแบบไหนและทำนายได้ถูกเสียด้วย
นักแสดงในบทวัยรุ่นทั้ง สี่ แสดงราวกับไม่ได้แสดง ผู้ชมสามารถสัมผัสเลือดเนื้อของเด็กทั้ง สี่ได้อย่างไม่มีที่ติ เพลงลูกทุ่งที่นำมาร้องสดๆ สร้างบรรยากาศและบอกความรู้สึกตัวละครได้ลงตัว คล้ายๆจะบอกว่า พระจันทร์เสี้ยวทำ musicalได้อยู่
การนำเสนอในรูปแบบ story theatre นำมาใช้ทั้งสองเรื่องในเรื่องแรกการใช้ story theatre ดูจะไปได้ลงตัวกับเรื่องราวของคนชานเมืองกรุงเทพนักแสดงผลัดกันเล่า ผลัดกันแสดง ถ่ายทอดมุมมองของตัวละครแต่ละตัวถ่ายทอดความรู้สึก ความคิด ทัศนคติเกี่ยวกับความรักที่ซับซ้อน เป็นstorytheatre ที่เนียน สวยงาม ไปเรื่อยๆลื่นไหลไปกับเสียงล้อเหล็กที่วิ่งไปตามรางรถไฟ
เมื่อกลับมาดูเรื่องที่ 2 หลังพักครึ่ง ละครนำเสนอด้วยวิธีเดียวกันผมรู้สึกว่าไม่เซอร์ไพรส์เท่าไหร่ แต่กระนั้นตัวเนื้อเรื่อง การแสดง การสร้างองค์ประกอบบทเวทีเพื่อสร้างบรรยากาศชนบทละครเนินมะเฟืองมีมากฉาก มากตัวละคร ผู้กำกับกำหนดสิ่งเหล่านี้ให้ได้จังหวะที่แม่น ทดแทนข้อด้อยของการใช้สไตล์ซ้ำจากเรื่องแรกหนีเงาความประทับใจจากเรื่องแรก มีเสน่ห์เป็นตัวของตัวเองได้พอเหมาะ
ผมรู้สึกไปเองว่า ทั้งสองเรื่องตัวละครหลักทุกตัวเมื่อคลี่คลายแล้ว คนดูได้อารมณ์เดียวกับตัวละครของ Wong Kar-wai ตัวละครทุกตัวต่างเปลี่ยวเหงา เศร้าสร้อย เส้นทางข้างหน้าไม่ชัดเจนรออยู่ น่าเป็นลักษณะเฉพาะของหนุ่มสาวยุคนี้ด้วย
ศรีดาวเรืองสร้างตัวละครเหล่านี้ไว้ก่อนหน้า ตัวละครในหนังของผู้กำกับที่ว่าหลายปีแล้วนับว่านักเขียนท่านนี้มองเห็นอนาคตอย่างน่าทึ่งทีเดียว
ขอบคุณ พระจันทร์เสี้ยว ที่หยิบหนังสือที่เก่าเก็บในตู้ มาปัดฝุ่น ทำความสะอาดให้เราได้เห็นประกายวรรณกรรมของนักเขียนท่านนี้ที่หลายคน และผมอาจจะเลือนไป
ปล. เป็นความบังเอิญที่ละครเรื่องนี้ ที่มีรถไฟเป็นฉากหลังผมนึกถึงหนังของ บุญส่ง นาคภู่เรื่องสถานนี4ภาค ที่นำเรื่องสั้นสี่เรื่องมาร้อยเรียงโดยมีรถไฟเป็นฉากหลังเหมือนกันสะท้อนภาพคนไทย 4 ส่วนในชนบทด้วยวิธีเล่าแบบธรรมชาติ นิ่งๆ แต่ได้เยอะ งามไม่แพ้ละครเรื่องนี้
....................
หมายเหตุ :
ขอขอบคุณผู้เขียน Nung Phongpan
และ ภาพถ่ายโดย วิชย อาทมาท
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment