08 May 2014

ศรีดาวเรืองกับภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง


ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง


ในวาระครบรอบ 72 ปีชีวิตนักประพันธ์หญิงเจ้าของนามปากกา ศรีดาวเรือง คู่ชีวิต สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง พระจันทร์เสี้ยวการละครได้จัดการแสดงละครเวทีสั้นสองเรื่องควบจากผลงานเขียนของศรีดาวเรือง คือเรื่อง ภาพลวงตาของการเปลี่ยนแปลงสรรพนาม ซึ่งเป็นหนึ่งเรื่องสั้นชิ้นเอกในหลายเรื่อง นวนิยายขนาดสั้น เนินมะเฟือง จากการกำกับของสินีนาฏ เกษประไพ หนึ่งในสมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละครและเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการนำเสนองานละครเวทีของพระจันทร์เสี้ยวร่วมกับสมาชิกคนอื่นของคณะ
การจับเอางานเขียนทั้งสองชิ้นมาทำเป็นละครเวทีเกิดจากการคัดเลือกร่วมกันของสมาชิกพระจันทร์เสี้ยว เพื่อเป็นการฉลอง 6 รอบอายุของศรีดาวเรือง ครบรอบ 38 ปี นามปากกา ศรีดาวเรืองซึ่งก่อเกิดขึ้นมาในโลกวรรณกรรมไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518


                                                                    (ศรีดาวเรือง)

สินีนาฏในฐานะผู้กำกับละครเวทีสั้นทั้งสองเรื่องในชื่อใหม่ที่นำเอาทั้งสองชื่อมาผนวกกันว่า ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อผลงานเขียนของศรีดาวเรืองว่าประทับใจตั้งแต่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นศึกษาอยู่ปี 2 ภาควิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษเป็นผู้แนะนำให้อ่านงานของศรีดาวเรือง ได้อ่าน มัทรี ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องแรกและรู้สึกประทับใจกับประเด็นทางสังคมรวมทั้งเรื่องผู้หญิงที่นำเสนอ หลังจากนั้นจึงติดตามและหางานชิ้นอื่นๆ มาอ่านแต่ก็ยังอ่านได้ไม่ครบ การทำละครเวทีสั้นสองเรื่องควบ ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง ยากตรงการคัดเลือกเรื่องมานำเสนอในรูปแบบละครเวที ยิ่งอ่านยิ่งทำให้รู้ว่าผู้ประพันธ์เขียนเรื่องราวของผู้หญิงไว้จำนวนหลายเรื่อง เมื่ออ่านงานของศรีดาวเรืองทำให้เห็นทั้งตัวเอง นึกถึงและคิดถึงแม่ ค้นพบรายละเอียดเล็กๆ ของครอบครัว สวัสดิ์ศรี และค้นพบว่าบ้านนี้ชอบรถไฟ


                                            (สินีนาฏ เกษประไพ)

พระจันทร์เสี้ยวได้ลงมือในการกำหนดประเด็นการนำเสนอผลงานละครสั้นจากบทประพันธ์ของศรีดาวเรือง ทุกคนช่วยกันอ่านและสรุปประเด็นหลักๆ ที่ต้องการร่วมกัน คือ ผู้หญิง รถไฟ เมือง-ชนบท จึงตัดสินใจร่วมกันเลือกสองเรื่องข้างต้น ภาพลวงตาของการเปลี่ยนแปลงสรรพนาม เป็นเรื่องที่ยากมากในความรู้สึกของสินีนาฏ มีเรื่องระหว่างบรรทัดเกิดขึ้นมากมาย ในเรื่องพูดถึงความรัก ความใคร่ ความพาฝันของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นชนชั้นกลางของสังคมเมือง มีความนิ่งเงียบในน้ำเสียงและบรรยากาศของเรื่องแต่มีความแรงลึก นวนิยายสั้นเรื่องนี้ประพันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2530 และเป็นความคิดของผู้หญิงคนหนึ่งที่ล้ำหน้ามากเมื่อเทียบกับยุคสมัยในตอนนั้น
ผู้กำกับเลือกให้บทสนทนาในเรื่องเป็นไปและไหลลื่นไปตามตัวบทประพันธ์ดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนคำ คำในเรื่องที่เป็นภาษาวรรณกรรม เน้นให้ตัวละครพูดให้มีความหมายและให้สมจริง เล่าแบบที่บทประพันธ์ต้องการสื่อที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีฉากประกอบง่ายๆ เป็นภาพมัลติมีเดียฉายประกอบเพื่อเป็นฉากรถไฟกำลังแล่น ตัวละครนั่งอยู่ในรถไฟและอยู่ที่ชานชาลา ผู้กำกับเลือกการทำฉากแบบง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมาก คงเนื้อหาที่แน่นและไม่ตกหล่นประเด็นที่ต้องการนำเสนอ เป็นต้นแบบสำหรับกลุ่มละครต้นทุนน้อยแต่เน้นการทำงานให้ได้คุณภาพ
การเลือกหยิบนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง เนินมะเฟือง สอดคล้องกับประเด็นรถไฟ ผู้หญิง เมืองและชนบทเช่นเดียวกับเรื่อง ภาพลวงตาของการเปลี่ยนแปลงสรรพนาม สินีนาฏเลือกเรื่องนี้ที่ให้ทั้งภาพชนบท วัยเด็ก การเติบโต การมาของความเจริญ และสิ่งที่ร่วมกันของผู้หญิงที่เป็นตัวละครในทั้งสองเรื่องที่ผู้กำกับมองเห็นชัดเจนได้แก่ ผู้หญิงจากทั้งสองเรื่องเป็นผู้เลือกชีวิตของพวกเธอเอง ชิ้นงานมีความสวยงาม การเล่าเรื่องเรียบเรื่อย ไม่กระแทกกระทั้น ที่สำคัญคือผู้หญิงในเรื่องเลือกได้แม้มีข้อจำกัดและสิ่งที่พวกเธอเลือกคือสิ่งที่ทำยากมาก
ในส่วนของเจ้าของบทประพันธ์ซึ่งได้มาชมการแสดงทั้งสองเรื่อง รู้สึกพอใจมากกับการทำงานละครสั้นทั้งสองเรื่องนี้ออกมาในรูปแบบละครเวที พระจันทร์เสี้ยวเคยทำภาพยนตร์สั้นเรื่องมัทรีซึ่งนำมาจากบทประพันธ์เรื่อง มัทรี ของศรีดาวเรือง ประเด็นที่ผู้กำกับนำเสนอก็ไม่ผิดไปจากที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อออกมากับผู้อ่าน เมื่อคณะติดต่อว่าจะนำงานเขียนมาจัดแสดงยังนึกภาพไม่ออกว่าจะนำเสนอแบบไหน แต่เมื่อมาชมก็รู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองเรื่องมีรถไฟเป็นสัญลักษณ์เพื่อจะสื่อกับผู้ชมว่า รถไฟมีทั้งความเจริญ ความชั่วร้าย และอะไรอีกหลายๆ อย่างที่มาพร้อมกับมัน “เรื่องเนินมะเฟืองตอนที่เขียนก็นำมาจากเรื่องและบุคคลใกล้ตัว เป็นเรื่องนินทาตามประสาชาวบ้าน ต้นเรื่องมาจากเรื่องเล่า และคิดว่าผู้หญิงต้องมีสิทธิ์ในการจะตัดสินใจทำอะไรได้ด้วยตัวเองเช่นกัน” ศรีดาวเรืองกล่าวในวันเสวนาหลังละครเวทีทั้งสองเรื่องจบลง


                                        (สิงห์สนามหลวง และ ศรีดาวเรือง)

ความในใจของผู้ประพันธ์ – ศรีดาวเรือง “หมู่บ้านเนินมะเฟืองจะมีอยู่จริงหรือไม่  ฉันไม่ทราบ   หมู่บ้านในเรื่องนี้ – สำหรับชื่อ-มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจินตนาการ  ส่วนเนื้อหาที่ปรากฏ – มีอยู่จริง   ท่านจะอ่านและสังเกตได้จาก “ข่าวพาดหัว” เท่าที่เคยผ่านตา และน่าจะมีปรากฏขึ้นมาต่อไป
สำหรับฉัน – ฉันมิได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อขัดแย้งกับศีลธรรม  ฉันเขียนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่อง “จักรๆ วงศ์ๆ ยุคใหม่” ที่เส้นทางคมนาคมได้กลายเป็นตัวกำหนดบทบาทและค่านิยมของผู้คนในหมู่บ้านห่างไกล
ฉันเขียน เนินมะเฟือง โดยตั้งใจให้เป็นเพียง ภาพร่างเบื้องต้นของชีวิตที่ยังไม่มีรายละเอียด  ชีวิตบางส่วนได้จบไป แล้ว  บางส่วนกำลังเริ่มต้น  - ศรีดาวเรือง, 14 ธันวาคม 2529”

งานประพันธ์ทั้งสองเรื่องของศรีดาวเรืองมีความล้ำสมัยในยุคของเธอตอนนั้น มีความร่วมสมัยเชิงแนวคิด รวมถึงความฉกาจฉกรรจ์ของเธอในการถ่ายทอดประเด็นของแต่ละชิ้นงานออกมา ด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะของศรีดาวเรือง ภาษาง่าย ตรงไปตรงมาแต่ลึก จังหวะของบทสนทนาลงตัว การหยิบผลงานของนักประพันธ์หญิงผู้นี้มาสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ในรูปแบบละครเวที ทำให้คนรุ่นต่อๆ มาได้ย้อนกลับไปศึกษาต้นธารงานประพันธ์ของ ศรีดาวเรือง ที่มีเรื่องสั้นนับร้อยกว่าเรื่อง และนวนิยายอีกจำนวนหนึ่ง กลับไปอ่านครั้งใดจะได้พบกับความคิดชุดใหม่ๆ และเกิดคำถามกับยุคสมัยทั้งสมัยของเธอและสมัยปัจจุบัน หลายเหตุการณ์ในเรื่องก็ยังวนๆ เวียนๆ คลับคล้ายคลับคลากับกาลเวลาในยุคเก่าแม้จะผ่านพ้นมาแล้วเนิ่นนานก็ตามที

เล่าสู่กันฟังโดย นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ
ภาพจากการแสดงละครเวที ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง เอื้อเฟื้อโดย พระจันทร์เสี้ยวการละคร

เขียนโดย nonglucky
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=876734

 

No comments: