08 May 2018

ที่มาของ “วาวา The Rice Child”

ที่มาของ “วาวา The Rice Child”


ละครหุ่นสื่อผสม “วาวา The Rice Child” เกิดจากความสนใจในประเด็นเด็กแรงงานข้ามชาติ และเกิดจากการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนใน Mekong Creative Communities Arts for Advocacy Fellowship 2010 ที่ PETA (Philippine Educational Theatre Association) ในปี 2553 ประเทศฟิลิปส์ โดย มีเพื่อนศิลปินที่เข้าร่วมจาก พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ ไทย ที่สนใจทำงานละครประเด็นโดยใช้ศิลปะการแสดงในรูปแบบต่างๆ มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนในประเด็นและทักษะการแสดง ทำ workshop ร่วมกัน จนแต่ละคนได้สร้างสรรค์เรื่องราวและเริ่มพัฒนาโปรเจคไปสู่การแสดง


โดยผู้กำกับของเรา สินีนาฏ เกษประไพ ได้ทำ Research ผ่านหนังสือ ข่าว และ รายงานต่างๆ รวมทั้งการลงพื้นที่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยความร่วมมือของ LPN ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เราได้เรียนรู้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติและประเด็นเชิงลึกผ่านการพูดคุยกับคุณสมพงค์ สระแก้ว และชาว LPN ได้เห็นพื้นที่จริง ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนที่เปิดรับน้องๆเด็กๆลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาและที่เกิดและโตในเมืองไทยให้ได้เข้าเรียนและได้มีโอกาสมากขึ้นในการศึกษา

จากจุดเริ่มต้นนี้เราได้ย่อยประเด็นและพัฒนาให้เป็นการเล่าเรื่องอย่างง่าย เพื่อให้ผู้ชมเด็กๆกับครอบครัวได้นั่งดูละครไปด้วยกัน โดยจะได้เห็นเรื่องราวของเด็กๆแรงงานข้ามชาติผ่านเรื่องราวของ วาวา และได้เห็นหุ่นสายที่โลดแล่นมีชีวิตชีวาผสมผสานกับภาพจากการวาดทราย หุ่นกระดาษ การเล่นเงา และบทเพลงซึ่งแต่งโดย พรชนก กาญจนพังคะ


ครั้งแรกเราเปิดการแสดงในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ทั้งหมด 10 รอบ โดยแสดงในที่ต่างๆและมีผู้ชมที่หลากหลายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 
-แสดงในการประชุมระดับนานาชาติ The 3rd Mekong Youth Forum on Human Trafficking and Migration 2010 จัดที่กรุงเทพ (แสดง 2 รอบ)
-แสดงที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space (4 รอบ)
-แสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ ที่ สวนสันติชัยปราการ ป้อมพระสุเมรุ ถ.พระอาทิตย์ (2 รอบ)
-แสดงที่โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จ.สมุทรสาคร (1 รอบ)
-แสดงในงาน พื้นที่นี้ดีจัง ที่ แพร่งภูธร (1 รอบ)
ในการแสดงครั้งแรกทั้งสิบรอบนี้ มีผู้ชม “วาวา The Rice Child” ประมาณสองพันคน


หลังจากครั้งนั้น วาวาและเพื่อนๆ หายไปนาน กลับมาแสดงอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงในเทศกาลละคร Festival of Windows ที่ PETA ประเทศฟิลิปส์ เราแสดงรอบเดียว ในโรงละครใหญ่ที่จุผุ้ชมประมาณ 400 คน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นมาก และอีกหนึ่งรอบที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว มีผู้ชมประมาณ 200 คน 


กลับมาครั้งนี้ วาวา และเพื่อน จะได้ร่วมแสดงในเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ BICT Fest 2018 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะแสดงเพียงแค่ 5 รอบเท่านั้น วันที่ 18-20 พ.ค. หลังจากนี้วาวากับเพื่อนๆคงจะพักไปอีกนาน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้มีโอกาสกลับมาเล่นอีก


No comments: