สองเรื่องกับอีกสองคน
บางส่วนมาจากนิตยสารสีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 9 2556
ละคร THEATRES เขียนโดย กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน
ปีนี้นักเขียนสตรีชื่อดัง ศรีดาวเรือง มีอายุครบ 72 ปีแล้ว ในวาระนี้ พระจันทร์เสี้ยวการละคร โดยศิลปินศิลปาธร สินีนาฏ เกษประไพ ร่วมฉลองด้วยละครเรื่อง “ภาพลวงตาจากการเปลี่ยนสรรพนาม” และ “เนินมะเฟือง”
สำหรับคนชนบทในยุคก่อนสถานีรถไฟคือศูนย์กลางย่อมๆของชุมชนมีทั้งร้านขายของ ร้านขายหนังสือพิมพ์ พ่อค้าแม่ค้าที่เร่ขายของให้คนบนรถไฟ ผู้คนที่ทั้งไปและมาโดยรถไฟ เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยของศรีดาวเรืองจึงเป็นเรื่องราวของชุมชนนี้และการเดินทางโดยรถไฟ
เรื่องแรกเป็นความรักความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวสองคนจากย่านชานเมืองที่อาศัยรถไฟเป็นพาหนะเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองอยู่ทุกวัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มก่อตัวขึ้น โดยมีสายตาของผู้โดยสารจำนวนหนึ่งเป็นประจักษ์พยาน
ศรีดาวเรือง เขียนเรื่องนี้โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของตัวละครหลายๆคน ทั้งชายหนุ่ม หญิงสาว และผู้โดยสารคนอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนก็มีภาพและจินตนาการในมุมมองของตนเอง เห็นและคิดเกี่ยวกับความเป็นไปนั้นแตกต่างกันออกไปตามสายตาของตนเอง ซึ่งในส่วนนี้ละครได้ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน โดยบทพูดของตัวละครแต่ละคน ซึ่งทำได้เป็นธรรมชาติมาก เราได้เห็นเรื่องราวดำเนินไปพร้อมๆกับการวิพากษ์จากสายตาที่แตกต่างกันของตัวละคร
หญิงสาวคนนั้นมีสามีแล้วแต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคความรักของเธอ ฝ่ายชายไม่กังขาในเรื่องนี้เมื่อเธอเลิกกับสามีก็ดูเหมือนว่าเรื่องจะลงเอยลงด้วยดี ทั้งสองมีโอกาสหลับนอนร่วมกัน แล้วเธอก็ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเขา เลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวพร้อมลูกในครรภ์
ในส่วนการเล่าเรื่องของหญิงสาว เธอไม่ได้พูดถึงเหตุผลอันแท้จริงว่าทำไมเธอจึงไม่ยอมแต่งงานกับเขา เพียงแต่มันเป็นทางเลือกของเธอเท่านั้น ตัวละครตัวอื่นๆก็ไม่สามารถจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ เรื่องจบลงด้วยการทิ้งปริศนาให้คนดูเอาไปคิดกันเอง
เรารู้ว่าเธอได้หลับนอนกับเขาหลังจากเลิกกับสามี แต่เธอได้หลับนอนกับเขาก่อนที่จะเลิกกับสามีหรือเปล่า หรือว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้เธอเลิกกับสามี เด็กในท้องของเธอเป็นลูกของเขาหรือของสามี และที่สำคัญ ทำไม เธอจึงปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเขา
“เนินมะเฟือง” เป็นเรื่องราวของผู้คนหลากหลายในชุมชนสถานีรถไฟ ชีวิตของเด็กหนุ่มสาว 4 คน ดำเนินไปที่สถานีรถไฟแห่งนี้ เด็กสาวคนหนึ่งมีอาชีพขายตัว เป็นโสเภณีเด็กก่อนที่จะได้ใช้คำว่านางสาวนำหน้า โดยมีเด็กชายเป็นนายหน้าให้ เด็กสาวอีกคนพบความรักกับครูหนุ่ม แต่พ่อของเธอเรียกค่าสินสอดที่เกินกำลังของครูจนๆ ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจหนีเข้าเมืองไปประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เด็กสาวคนที่ 3 เป็นคนขี้เหร่ แต่เธอก็ขยันทำมาหากิน และในที่สุดเธอก็ได้พบกับความรัก และมีความสุขในชีวิตสมรส
เรื่องแรกนั้น ดูเป็นเรื่องโรแมนติค มีบทกระจุ๋มกระจิ๋มของหนุ่มสาวให้พร้อมอมยิ้มกันได้ รวมทั้งบทของชาวบ้านบนรถไฟที่มีความหลากหลาย แม้ในตอนท้ายจะเป็นการลาจากกันก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการคร่ำครวญหวนหา แต่กินใจคนดูพอสมควรทีเดียว ส่วนเรื่องหลังเป็นประเด็นของความจริงในชีวิตที่ค่อนข้างจะแรง แต่ก็ยังคงลักษณะเรียบง่ายเหมือนจริงอยู่ ไม่มีการบีบคั้นอารมณ์ให้ฟูมฟายแต่อย่างไร
แต่ความเหมือนจริงของการแสดงนี่แหละที่ทำให้คนดูต้องสะท้อนในใจ เมื่อมาคิดว่ามันมีอยู่จริงๆโดยเฉพาะประเด็นโสเภณีเด็กในเรื่องหลัง ภาพของเด็กชายหญิงนอนหนุนรางรถไฟคุยกันในยามไม่มีลูกค้าสะเทือนใจคนดูมาก เพราะเห็นว่าสองคนยังเป็นเด็ก และทำทุกอย่างไปเพราะความเป็นเด็กนั่นเอง ความจริงในเรื่องที่ 2 ทำให้ความหวานของเรื่องแรกนั้นกลายเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้นเอง
สินีนาฏ ดึงประเด็นสำคัญจากเรื่องของ ศรีดาวเรือง ออกมาแสดงได้ชัดเจนมากคือความเป็นอิสระของตัวละครฝ่ายหญิง หญิงสาวในเรื่องแรกเป็นคนเลือกที่จะอยู่คนเดียว เป็น sigle mom โดยไม่สนใจความต้องการของฝ่ายชาย เด็กหญิงยึดอาชีพขายตัวโดยไม่มีใครมาบีบบังคับ และเด็กสาวอีกคนก็เช่นกัน เธอตัดสินใจไปขายตัวดีกว่าที่จะยอมเป็นสินค้าให้พ่อขาย
No comments:
Post a Comment