30 June 2013

"โปรเจค 1/4" บทวิจารณ์จากนิตยสารสีสัน



"โปรเจค 1/4 เส้นทางระหว่างเขาและเธอ" คัดมาจากนิตยสารสีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 10 2556
ละคร THEATRES
เขียนโดย กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน



“Project ¼ เส้นทางระหว่างเขาและเธอ” เป็นผลงานล่าสุดของคณะพระจันทร์เสี้ยวการละครซึ่งดูเหมือนจะมีกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เป็นละครสั้นสี่เรื่องจากบทละครของ อรดา ลีลานุช กำกับโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ 4 คน โดยตัว สินีนาฏ เกษประไพ ไปรับหน้าที่โปรดิวเซอร์

จากการเสวนาหลังละครจบ จึงทำให้ได้รู้ว่าบทของอรดานั้น มีแต่ตัวละครและบทพูด ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ สถานที่ เวลา แต่อย่างใด บทแบบนี้ ผู้กำกับละครชอบกันนัก เพราะให้อิสระในการสร้างภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงตอนจบซึ่งเมื่อบทพูดจบไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้กำกับเองที่จะตัดสินใจว่าละครจะจบลงอย่างไร

ละครทั้ง 4 เรื่อง แบ่งออกเป็นเป็นเหมือนจริงสองเรื่อง และแอ็บสแทร็คท์ 2 เรื่อง แน่นอนคนดูย่อมรับเรื่องเหมือนจริงได้มากกว่า เพราะมีอะไรจับต้องได้ ในขณะที่แอ็บสแทร็คท์นั้น คนดูได้ใช้จินตนาการร่วมสร้างเรื่องราวขึ้นมาด้วย



“สายน้ำกับสายลม” กำกับโดย สุกัญญา เพี้ยนศรี แสดงโดย อรรถพล อนันตวรสกุล และตัวผู้เขียนบท อรดา ลีลานุช เป็นเรื่องของสามีภรรยาที่ความคิดไม่ตรงกัน จนในที่สุดสามีก็ต้องลงมือทำอาหารด้วยตนเอง ส่วนภรรยาก็ทำหน้าที่ซักผ้ารีดผ้า ดูจากภาพก็เหมือนครอบครัวที่มีความสุข แต่เราก็ได้เห็นความแบ่งแยก และบางครั้งก็มีการก้าวก่ายรุกล้ำซึ่งกันและกัน

เป็นเรื่องที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้มากที่สุด ดูได้เพลินที่สุดโดยเฉพาะการแสดงของทั้งคู่ เพราะโดยปกติแล้วทั้ง 2 คน ไม่ใช่นักแสดงตลกจึงออกมาในลักษณะของตลกหน้าตาย ที่ยิ่งเรียกเสียงหัวเราะได้มากขึ้น


“ที่พักใจ” กำกับโดย ศิริธร ศิริวรรณ แสดงโดย อาคีรา โหมดสกุล และ เกรียงไกร ฟูเกษม ซึ่งทั้ง 2 คนมีชื่อในบทตลกโลดโผนเฮฮา จึงเป็นเรื่องที่คนดูตั้งใจมาฮากันมากที่สุด แต่กลับผิดคาด เพราะเป็นเรื่องของสามีภรรยาอีกคู่ ที่ดูจากภายนอกก็รักใคร่เอาใจใส่กันดี มีชีวิตที่ราบเรียบ ปกติสุข และผู้แสดงทั้ง 2 คน แสดงออกมาเรียบๆเหมือนภาพชีวิตประจำวัน

ในความเรียบง่ายของการแสดงออกนี่เองที่นักแสดงให้เห็นถึงฝีมือของทั้งคู่ วิธีการพูดของทั้ง 2 คนดึงเอาความหมายบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวบทออกมาให้เห็นเด่นชัด กลายเป็นแบล็คคอเมดี้ที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้โดยไม่ต้องทำตลก


“นี่ไม่ใช่บทเพลงรัก” กำกับโดย เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ แสดงโดย ณัฐนันท์ ประเสริฐรัสมี และเบน โกศลศักดิ์ หนุ่มสาวทั้ง 2 คนมาพบกันในที่แห่งหนึ่งไร้ขอบเขตกว้างขวางว่างเปล่า ทั้ง 2 คนมุ่งหาความหมายบางอย่างและไม่แน่ใจว่าจะรู้ตัวได้พบหรือไม่ หรือจะวนเวียนกันไปอย่างในละคร คือเริ่มต้นและจบลงด้วยภาพเดียวกัน

เบน โกศลศักดิ์ มีลักษณะโรแมนติคแบบฝันๆและมีความเด่นมากเวลาอยู่บนเวที ส่วนณัฏฐนันท์ ก็ดูเปราะบาง อ้างว้าง เหมาะกับเรื่องนี้มาก


“เสียงสะท้อนจากความเงียบ” กำกับโดย รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ แสดงโดย วรุฒม์ เข็มประสิทธิ์ และ เววิรี อิทธิอนันตกุล เป็นคู่ที่เข้ากันได้ดีมาก ทั้งรูปร่างหน้าตา และการรับส่งบท หนุ่มสาว 2 คนที่มาอยู่ด้วยกันในสถานที่ที่ระบุว่าเป็นแพ แต่อยู่ที่ไหนไม่รู้ และดูไม่มีทางออก ในขณะที่คนหนึ่งกำลังตามหาอะไรบางอย่าง อีกคนหนึ่งก็พยายามหลีกหนีไปเหมือนกัน

เรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ตรงเสียงประกอบที่เป็นเสียงปืนดังมาจากภายนอกเป็นระยะๆและเสียงวิทยุรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายรัฐและประชาชน



สองเรื่องหลังนี้ออกแนวแอ็บสแทร็คท์ที่ผู้ชมต้องคิดและตีความเอาเอง แต่การตีความของตัวผู้กำกับเองก็เด่นชัดมาก (เกินไป?) ด้วยการมีของประกอบฉาก องแรกนั้นมีกระดาษพับเป็นรูปเรือแบบที่ใช้ในพิธีกงเต๊ก ส่วนเรื่องที่ 2 นอกจากเสียงประกอบแล้วก็ยังมีตุ๊กตานอนกลาดเกลื่อนอยู่บนพื้นอีกด้วยออกไป

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของละคร 4 เรื่องนี้ ก็คือการใช้พื้นที่ในการแสดง เป็นโรงละครเล็กๆแต่ก็ดูกว้างขวางเมื่อมีผู้แสดงเพียง 2 คน การจัดตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของตัวละครจึงต้องทำให้ดู้ต็มเวทีและก็ทำได้ดี โดยเฮพาะทั้ง 4 เรื่องเป็นเรื่องที่ดูไร้ขอบเขตของฉาก แต่กลับต้องแสดงถึงความคับแคบที่ตัวละครต้องการหลบหนี ในส่วนนี้ “นี่ไม่ใช่บทเพลงรัก” ทำได้ดีที่สุด เพราะตามเรื่องแล้วฉากของเขากว้างที่สุด




นอกจากนี้ยังมีการใช้พื้นที่ของโรงละครให้เป็นประโยชน์มากขึ้นกว่าเรื่องอื่นๆที่เคยมาแสดงกันที่นี่ เช่นหน้าต่างกระจกซึ่งปกติจะใช้ม่านปิดเอาไว้ หรือพื้นที่ที่เป็นซอกเล็กๆข้างโรงที่ไม่เคยใช้กันเลย

ที่สำคัญคือโรงละครพระจันทร์เสี้ยวที่ปกติจะรับคนดูได้เพียง 30 คน ในบางรอบต้องจัดที่นั่งให้คนดูถึง 50 คน


ภาพถ่ายโดย
อดิเดช ชัยวัฒนกุล


29 June 2013

“ที่ทางของละครร่วมสมัยไทย ตอน 2 : ละครโรงเล็กในกรุงเทพมหานคร”



การบรรยายพิเศษ “ที่ทางของละครร่วมสมัยไทย ตอน 2 : ละครโรงเล็กในกรุงเทพมหานคร”
วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2556 เวลา 18:00-21:00 น.
ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

กำหนดการ

17.30 น. ลงทะเบียนผู้ร่วมงาน
18.00 น. กล่าวต้อนรับ โดย ฝ่ายกิจกรรมเครือข่าย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
บรรยาย “ละครโรงเล็ก คืออะไร ทำไมต้องเล็ก” และ ที่มาและที่ไปของละครโรงเล็กในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน โดย ประดิษฐ ประสาททอง
19.00 น. ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยน “โรงละครขนาดเล็กในกรุงเทพฯ สถานการณ์ในปัจจุบัน” โดย ศิลปินและผู้บริหารโรงละครขนาดเล็ก
คุณภาวิณี สมรรคบุตร (Democrazy Theatre Studio)
คุณสินีนาฏ เกษประไพ (Crescent Moon Space)
คุณจารุนันท์ พันธชาติ (B-floor Room)
คุณสุนนท์ วชิรวราการ (Chang Theatre)
20.00 น. ถาม-ตอบ


see more
https://www.facebook.com/messages/730707041#!/events/533996073331928/?notif_t=plan_edited

27 June 2013

"ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง" บทวิจารณ์จากนิตยสารสีสัน

สองเรื่องกับอีกสองคน

บางส่วนมาจากนิตยสารสีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 9 2556
ละคร THEATRES เขียนโดย กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน





ปีนี้นักเขียนสตรีชื่อดัง ศรีดาวเรือง มีอายุครบ 72 ปีแล้ว ในวาระนี้ พระจันทร์เสี้ยวการละคร โดยศิลปินศิลปาธร สินีนาฏ เกษประไพ ร่วมฉลองด้วยละครเรื่อง “ภาพลวงตาจากการเปลี่ยนสรรพนาม” และ “เนินมะเฟือง”

สำหรับคนชนบทในยุคก่อนสถานีรถไฟคือศูนย์กลางย่อมๆของชุมชนมีทั้งร้านขายของ ร้านขายหนังสือพิมพ์ พ่อค้าแม่ค้าที่เร่ขายของให้คนบนรถไฟ ผู้คนที่ทั้งไปและมาโดยรถไฟ เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยของศรีดาวเรืองจึงเป็นเรื่องราวของชุมชนนี้และการเดินทางโดยรถไฟ

เรื่องแรกเป็นความรักความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวสองคนจากย่านชานเมืองที่อาศัยรถไฟเป็นพาหนะเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองอยู่ทุกวัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มก่อตัวขึ้น โดยมีสายตาของผู้โดยสารจำนวนหนึ่งเป็นประจักษ์พยาน

ศรีดาวเรือง เขียนเรื่องนี้โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของตัวละครหลายๆคน ทั้งชายหนุ่ม หญิงสาว และผู้โดยสารคนอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนก็มีภาพและจินตนาการในมุมมองของตนเอง เห็นและคิดเกี่ยวกับความเป็นไปนั้นแตกต่างกันออกไปตามสายตาของตนเอง ซึ่งในส่วนนี้ละครได้ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน โดยบทพูดของตัวละครแต่ละคน ซึ่งทำได้เป็นธรรมชาติมาก เราได้เห็นเรื่องราวดำเนินไปพร้อมๆกับการวิพากษ์จากสายตาที่แตกต่างกันของตัวละคร

หญิงสาวคนนั้นมีสามีแล้วแต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคความรักของเธอ ฝ่ายชายไม่กังขาในเรื่องนี้เมื่อเธอเลิกกับสามีก็ดูเหมือนว่าเรื่องจะลงเอยลงด้วยดี ทั้งสองมีโอกาสหลับนอนร่วมกัน แล้วเธอก็ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเขา เลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวพร้อมลูกในครรภ์

ในส่วนการเล่าเรื่องของหญิงสาว เธอไม่ได้พูดถึงเหตุผลอันแท้จริงว่าทำไมเธอจึงไม่ยอมแต่งงานกับเขา เพียงแต่มันเป็นทางเลือกของเธอเท่านั้น ตัวละครตัวอื่นๆก็ไม่สามารถจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ เรื่องจบลงด้วยการทิ้งปริศนาให้คนดูเอาไปคิดกันเอง

เรารู้ว่าเธอได้หลับนอนกับเขาหลังจากเลิกกับสามี แต่เธอได้หลับนอนกับเขาก่อนที่จะเลิกกับสามีหรือเปล่า หรือว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้เธอเลิกกับสามี เด็กในท้องของเธอเป็นลูกของเขาหรือของสามี และที่สำคัญ ทำไม เธอจึงปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเขา



“เนินมะเฟือง” เป็นเรื่องราวของผู้คนหลากหลายในชุมชนสถานีรถไฟ ชีวิตของเด็กหนุ่มสาว 4 คน ดำเนินไปที่สถานีรถไฟแห่งนี้ เด็กสาวคนหนึ่งมีอาชีพขายตัว เป็นโสเภณีเด็กก่อนที่จะได้ใช้คำว่านางสาวนำหน้า โดยมีเด็กชายเป็นนายหน้าให้ เด็กสาวอีกคนพบความรักกับครูหนุ่ม แต่พ่อของเธอเรียกค่าสินสอดที่เกินกำลังของครูจนๆ ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจหนีเข้าเมืองไปประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เด็กสาวคนที่ 3 เป็นคนขี้เหร่ แต่เธอก็ขยันทำมาหากิน และในที่สุดเธอก็ได้พบกับความรัก และมีความสุขในชีวิตสมรส

เรื่องแรกนั้น ดูเป็นเรื่องโรแมนติค มีบทกระจุ๋มกระจิ๋มของหนุ่มสาวให้พร้อมอมยิ้มกันได้ รวมทั้งบทของชาวบ้านบนรถไฟที่มีความหลากหลาย แม้ในตอนท้ายจะเป็นการลาจากกันก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการคร่ำครวญหวนหา แต่กินใจคนดูพอสมควรทีเดียว ส่วนเรื่องหลังเป็นประเด็นของความจริงในชีวิตที่ค่อนข้างจะแรง แต่ก็ยังคงลักษณะเรียบง่ายเหมือนจริงอยู่ ไม่มีการบีบคั้นอารมณ์ให้ฟูมฟายแต่อย่างไร

แต่ความเหมือนจริงของการแสดงนี่แหละที่ทำให้คนดูต้องสะท้อนในใจ เมื่อมาคิดว่ามันมีอยู่จริงๆโดยเฉพาะประเด็นโสเภณีเด็กในเรื่องหลัง ภาพของเด็กชายหญิงนอนหนุนรางรถไฟคุยกันในยามไม่มีลูกค้าสะเทือนใจคนดูมาก เพราะเห็นว่าสองคนยังเป็นเด็ก และทำทุกอย่างไปเพราะความเป็นเด็กนั่นเอง ความจริงในเรื่องที่ 2 ทำให้ความหวานของเรื่องแรกนั้นกลายเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้นเอง

สินีนาฏ ดึงประเด็นสำคัญจากเรื่องของ ศรีดาวเรือง ออกมาแสดงได้ชัดเจนมากคือความเป็นอิสระของตัวละครฝ่ายหญิง หญิงสาวในเรื่องแรกเป็นคนเลือกที่จะอยู่คนเดียว เป็น sigle mom โดยไม่สนใจความต้องการของฝ่ายชาย เด็กหญิงยึดอาชีพขายตัวโดยไม่มีใครมาบีบบังคับ และเด็กสาวอีกคนก็เช่นกัน เธอตัดสินใจไปขายตัวดีกว่าที่จะยอมเป็นสินค้าให้พ่อขาย





17 June 2013

ภาพบรรยากาศในงานมหกรรมการแสดงแสนหรรษา ครั้งที่ 15

บรรยากาศงานรำลึกครูองุ่น มาลิก หรืองานมหกรรมการแสดงแสนหรรษา ปีนี้จัดกันมาเป็นครั้งที่ 15 แล้ว ปีนี้อบอุ่นและหรรษาเฮฮามาก
รายการแรกเริ่มด้วยนิทานช่วยกันเล่าโดยพี่ๆและเพื่อนพระจันทร์เสี้ยวชักชวนน้องและครอบครัวมาช่วยกันเล่านิทานด้วยกัน สนุกสนานกันมากกับการเล่านิทานไปเล่นไปด้วยกันทั้งห้องประชุม







การแสดงชุดที่สองนี้คือเด็กๆจากโรงเรียนสืบสานศิลปะวัฒนธรรมล้านนา วัดวชิรธรรมสาธิต มาร่วมงานกับเราทุกปี โดยการนำของแม่จำปา แสนพรม



รายการต่อมาคือการแสดงละครหุ่นในโรงเล็กเรื่อง "นกฮูกกับแมวเหมียว" ท่องเที่ยวในทะเล น่ารักเล็กๆในโรงหุ่นจิ๋ว โดยพี่ๆคณะละครยายหุ่น




ละครหุ่นน่ารักทั้งหุ่นและคนเล่าเรื่อง "เจ้าชายกบ" จากคณละครหุ่น Mommy Puppet โดยแม่แก้ม น้องจี้ ครอบครัว และนักดนตรี ที่มาร่วมงานกับเราเป็นครั้งแรกในปีนี้





นักแสดงหลากหลายมากกับเรื่องนี้ "ไก่เกเร" คณะละครยายหุ่น จากพี่ๆพระจันทร์เสี้ยวการละคร ที่แปลงร่างไปเชิดหุ่น แล้วตั้งชื่อคณะว่ายายหุ่น เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับ ครูองุ่น มาลิก ที่ทำหุ่นและแสดงละครหุ่นเชิดมือเพื่อเด็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย





มหัศจรรย์แสงและเงากับ "กระต่ายกับเต่า" จากพี่ๆกลุ่มมละครมะขามป้อม สนุกสนานกันมากกับการเล่าเรื่อง หุ่นมือ ดนตรี และ หุ่นเงา






รายการสุดท้ายเฮฮาหรรษกับรายการสุดท้ายของเรา Baby Mime Show กับนักละครใบ้อารมณ์ดี ที่ชอบสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม และยังช่วยนำภาพวาดมาประมูลหารายได้สมทบทุนเข้ามูลนิธิไชยวนาด้วย



มูลนิธิไชยวนา สถาบันปรีดี พนมยงค์ และพระจันทร์เสี้ยวการละครขอขอบคุณเหล่าศิลปินนักเชิดหุ่นที่มาร่วมแสดงและสร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้กับเด็กๆและผู้ชมร่วมกันในปีนี้ค่ะ





และขอขอบคุณผู้ชมที่มาร่วมชมด้วยกันอย่างมีความสุข




01 June 2013

สูจิบัตรโปรเจค 1/4



"โปรเจค 1/4 เส้นทางระหว่างเขาและเธอ"

4 ผู้กำกับ 1 นักเขียนบท กับละครสั้น 4 เรื่อง
บทละครโดย อรดา ลีลานุช

"นี่ไม่ใช่บทเพลงรัก"
นักแสดง : ณัฎฐนันท์ ประเสริฐรัสมี,เบ็น โกศลศักดิ์
ผู้กำกับ : เบญจ์ บุษราคัมวงศ์

"สายน้ำกับสายลม"
นักแสดง : อรรถพล อนันตวรสกุล, อรดา ลีลานุช
ผู้กำกับ : สุกัญญา เพี้ยนศรี

"เสียงสะท้อนจากความเงียบ"
นักแสดง : วรุตม์ เข็มประสิทธิ์, เววิรี อิทธิอนันต์กุล
ผู้กำกับ : รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ

"ที่พักใจ"
นักแสดง : อาคีรา โหมดสกุล, เกรียงไกร ฟูเกษม
ผู้กำกับ : ศิริธร ศิริวรรณ


ทีมงาน
ดูแลการผลิต สินีนาฏ เกษประไพ อรดา ลีลานุช
ตัดต่อและควบคุมแสง ทวิทธิ์ เกษปะไพ
ออกแบบและควบคุมเสียง พลัฏ สังขกร
กำกับเวที สุธี ใจเพ็ง
บัตรและหน้างาน กอใจ อุ่ยวัฒพงศ์
ประชาสัมพันธ์ ลัดดา คงเดช
ออกแบบโปสเตอร์ อดิเดช ชัยวัฒกุล วิชย อาทมาท
ถ่ายภาพ อดิเดช ชัยวัฒกุล วิชย อาทมาท จีรณัทย์ เจียรกุล


ขอขอบคุณ
สถาบันปรีดี พนมยงค์
น้ำดื่มตราโอมิซึ
และท่านผู้ชมทุกท่านที่สนับสนุนศิลปะการละคร