22 August 2009

เมื่อพระจันทร์คืนเสี้ยว

เมื่อพระจันทร์ 'คืน' เสี้ยว
(ภาคต่อของ “พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย”
โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง)


๑๐ ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ คำรณ คุณะดิลก ได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วสร้างสรรค์ละครเวทีสามัญชน เรื่อง "คือผู้อภิวัฒน์" อันเป็นเรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในนามของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว พร้อมทั้งลบคำสบประมาทที่วิจารณ์ว่าละครเวทีไทยยังอ่อนด้อยและขาดไร้ประสบการณ์ลงได้อย่างสิ้นเชิง

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คำรณ คุณะดิลก ได้ชักนำหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่สนใจสร้างงานละครเวทีอย่างเป็นอาชีพในนาม "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแสงอรุณ เข้ามาช่วยผลักดันกระตุ้นจนเกิดความตื่นตัวให้กับวงการละครเวทีไทยอีกครั้ง และมีผลงานละครเวทีออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กูชื่อพญาพาน, ความฝันกลางเดือนหนาว, ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ, มาดามเหมา, กระโจมไฟ, ตลิ่งสูงซุงหนัก, พระมะเหลเถไถ, คำปราศรัยของนาย ก. ฯลฯ (13) จวบจนปัจจุบันผลงานละครเวทีของ "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ซึ่งทอดส่งมายังนักการละครรุ่นใหม่นั้นเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ

ณ วันนี้เสี้ยวแสงแห่งรัตติกาลยังคงทอฉายด้วยศรัทธาที่มุ่งมั่น แม้จะไม่เรืองรองจนส่องทาง หาก "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" กลับพอใจในแสงเรื่อเรืองของตน และพร้อมจะสร้างสรรค์ฉากของชีวิตที่สะท้อนภาพสังคมให้ผู้ชมได้ขบคิดสืบต่อไป เฉกเช่นบทกวีที่คำรณ คุณะดิลกได้กล่าวไว้

"เราเป็นนก ประดับดงไม้
รับฟัง บทเพลงที่เราร้อง
แต่อย่ากู่ขานชื่อเราเลย..."


อ่านบทความเต็มๆพร้อมแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้ที่
http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999920.html



++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) นำชื่อมาจากนวนิยายเรื่อง"ทางสายพระจันทร์เสี้ยว" ของ ประภัสสร เสวิกุล
(2) ยุคนี้เป็นยุดสมัยหรือช่วงเวลาที่นักศึกษามีความภาคภูมิใจในสถานภาพของตนเอง กล่าวคือ เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม และมีความสุขสำราญในการใช้ชีวิตทุกด้าน นักวิชาการบางท่านเรียกว่ายุค "สายลมแสงแดด" นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้แทบไม่มีใครทราบอดีตเลยว่า ใครเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมีความเป็นมาอย่างไร ใช้เวลาไปกับการแข่งขันกีฬา, พาเหรด แบ่งสี สถาบัน จำกัดกิจกรรมในแวดวงกีฬา และบันเทิง ไม่สนใจสังคมและการเมือง ไม่ใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน, http://www.2519.net/
(3) เป็นยุคที่ประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ มีการสร้างกลุ่ม ชมรม องค์กรนักศึกษา ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวงกว้าง ทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งมีผลสะท้อนกลับ คือ ทำให้นักศึกษากลายเป็นพลัง และกลุ่มกดดันทางสังคม เป็นยุคที่รู้จักกันดีในชื่อ "ยุคฉันจึงมาหาความหมาย" จากอิทธิพลทางความคิดและบทกวีอมตะจากหนังสือเพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ของวิทยากร เชียงกูล, http://www.2519.net/
(4) ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๗ ณ ทุ่งพระสุเมรุ สนามหลวง โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่าง นิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันและควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ จนได้ถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่ารายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้ง, "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php
(5) งิ้วธรรมศาสตร์ หรืองิ้วการเมือง เปรียบได้ว่าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะการแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยสะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านการแสดงละครที่สนุกสนานและเสียดสีได้อย่างแสบร้อน ทั้งดึงดูดความสนใจด้วยการนำผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงสังคมมาเป็นตัวแสดง หรือการแสดงในแบบจรยุทธ์ โดยเล่นตามม็อบหรือความเคลื่อนไหวบนสถานการณ์การเมืองที่สำคัญ นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม, พฤษภาทมิฬ และล่าสุดคือเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, อรการ กาคำ, "มหรสพสยบมาร", กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙.
(6) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ, ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙.
7) ชาวโปล คนหนึ่งที่ชื่อว่า Jerzy Growtowski เป็นผู้เรียกละครแนวนี้ว่า Poor Theatre เขามีความคิดว่า ละครของพวกคนรวย ที่ใช้ฉาก แสงเสียง เสื้อผ้า หรือองค์ประกอบอื่น ๆ นั้น ไม่มีประโยชน์ และPoor Theatre ก็คือละครที่ไม่ใช้อะไรสักอย่างนอกจากที่จำเป็นเท่านั้น , "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ www.dass.com
(8) Jerzy Growtowski ชาวโปล เขาเป็นผู้นิยามละครแนว Poor theatre และเป็นผู้ตั้งคณะละคร The Polish Theatre Laboratory ขึ้นในปี ๑๙๕๙
เพื่อหาแนวทางในการแสดงรูปแบบใหม่ ที่นักแสดงไม่ต้องจำกัดตัวเองอยู่กับสิ่งต่างๆภายนอกเลย แต่จะใส่ใจอยู่ที่การแสดงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเอง ละครของเขาจึงไม่ใช้การแต่งหน้า เสื้อผ้า หรือฉากที่สมจริงในการแสดง ให้ความสนใจแต่ร่างกายและจิตใจของนักแสดงเท่านั้น, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(9) แนวละครร่วมสมัยในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เน้นหนักไปยังความสามารถของนักแสดงและความสัมพันธ์กับผู้ชม, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
10) ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา เริ่มสนใจและศึกษาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่า มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์ Therese Raquin นวนิยายที่เขียนขึ้นโดย Emile Zola เป็นนวนิยายในแนว Naturalism หรือธรรมชาตินิยม ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะและงานละครในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นักการละครยุคนั้นจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รอบตัวมนุษย์ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉากที่ให้รายละเอียดที่สมจริง หรือการที่นักแสดงจะพยายามแสดงให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยพยายามที่จะศึกษาลึกลงไปในภูมิหลังและความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครต่าง ๆ Stanislavsky นักการละครที่โด่งดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาธรรมชาตินิยมนี้, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(11) แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky หรือ Gorki) มีความหมายว่า "แมกซิมผู้ระทมขมขื่น" เป็นนามปากกาของอเลกเซ แมกซิโมวิช เพสคอฟ (Alexi Maximovich Peshkov) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ซึ่งได้สร้างสรรค์วรรณกรรมสะท้อนให้เห็นถึงความยากแค้นลำเค็ญของสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย ผลงานของเขาถือได้ว่า "ปลุกเร้าวิญญาณของมวลมนุษย์" โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องแม่ โดยฉากของนิยายในเรื่องทั้งหมดเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง รวมถึงเหตุการณ์และการจำลองชีวิตของบุคคลที่ไม่ได้รับความยุติธรรรมในสังคมมาใส่ไว้ในเรื่อง การดำเนินชีวิตของ ปาเวล วลาสซอฟ นั้นลอกเลียนมาจากชีวิตจริงของ ปาเวล ซาโลมอฟ ซึ่งเป็นผู้เดินนำกรรมกรในวันเมย์เดย์และถูกตี ถูกจับ ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลานาน ส่วนแม่ของปาเวล นิลอฟน่า เป็นภาพรวมจากชีวิตแม่ของซาโลมอและแม่ของ Kadomtsev กรรมกรนักปฏิวัติ
เหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวปฏิวัตินั้นสตรีชาวรัสเซียที่เป็นแม่และเป็นกรรมกรมากมาย มีส่วนช่วยลูกและต้องเข้าคุกไปด้วย หลังจากหลบลี้ภัยการเมืองไปในหลายประเทศ และที่อเมริกานี้เองกอร์กี้ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "แม่" ขึ้นมา หากเมื่อนำไปตีพิมพ์ที่รัสเซียเป็นครั้งแรกนั้นเรื่องแม่ตอนแรกที่ออกมาถูกยึดทำลายหมด และตอนที่สองก็ถูกเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการเสียจนอ่านไม่ได้เรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีหนังสือเรื่อง "แม่" ที่พิมพ์โดยผิดกฎหมายออกมามีเนื้อหาครบถ้วน และไม่นานเรื่อง "แม่" ก็ถูกแปลไปหลายภาษาทั่วโลก รัฐบาลพระเจ้าซาร์โกรธมากที่มีหนังสือเรื่อง "แม่" ตีพิมพ์ออกมา สั่งจับกอร์กี้ในฐานะผู้เขียน กอร์กี้หนีรอดพ้นเงื้อมมือของตำรวจไปได้โดยไปอยู่ที่เกาะคาปรี
เมื่อกอร์กี้กลับมารัสเซียนั้น เขากลับมาอย่างผู้มีชัย สถานที่บ้านเกิดของเขาซึ่งเป็นฉากท้องเรื่องของนวนิยายเรื่อง "แม่" ได้รับการขนานนามใหม่ว่า "กอร์กี้" เพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. ๑๙๓๒, เรียบเรียงจาก จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล), แม่, แปลจาก MOTHER โดย Maxim Gorky, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ดอกหญ้า : กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓, ๑๑-๑๓ (เบื้องหลังความเป็นมาเรื่อง "แม่" โดยภิรมย์ ภูมิศักดิ์)
(12) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ.
(13) http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/


++++++++++++++++++++++++++++

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑. เอกสารประกอบงานพระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนประชาธิปไตยไทย
๒. http://www.2519.net/
๓. "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php (บทความ)
๔. อรการ กาคำ. "มหรสพสยบมาร". กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๕. "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐". แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ (บทความ)
๖. "ละครกับประชาธิปไตย": ๓๐ ปีพระจันทร์เสี้ยว. กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๗. จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล). แม่. จาก MOTHER โดย Maxim Gorky. พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๓
๘. http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/


No comments: