24 April 2012

บทวิจารณ์ I Sea ใน Art Square

ค่ำคืนหนึ่งที่ทองหล่อ... ผมมองเห็นทะเล


เขียนโดย วิชญ์พล ดิลกสัมพันธ์
จากนิตยสาร Art Square ฉบับเดือนธันวาคม 2554





เมื่อพูดถึงชายหาดและเกลียวคลื่นที่ซัดสาดเข้าหาฝั่ง ลมเย็นๆที่พัดมาจากพื้นน้ำ พร้อมกับกลิ่นไอทะเลจางๆในอากาศ คุณนึกถึงอะไร? สำหรับสองนักแสดงหญิงผู้มากความสามารถและมากประสบการณ์จากพระจันทร์เสี้ยวการละคร พวกเธอได้ถ่ายทอดความคำนึงและความรู้สึกที่มีต่อทะเล ผ่านผลงานการแสดงเดี่ยวล่าสุดของทั้งคู่… I-Sea project

สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินศิลปาธรหญิงคนแรกของประเทศไทย และ ฟารีดา จิราพันธุ์ นักแสดงละครเวทีฝีมือคุณภาพ ทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร และทำงานละครมาอย่างยาวนาน มีผลงานละครอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ครั้งนี้ทั้งคู่ได้จับมือกันทำ Solo Performance ของแต่ละคน ที่เน้นการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้หญิงโดยไม่ใช้คำพูด ภายใต้โจทย์เดียวกันคือคำว่า ทะเล และ ผู้หญิง และได้จัดแสดงที่ Crescent moon space สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ เมื่อวันที่ 22-26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นการแสดงเดี่ยว 2 เรื่องที่ไม่ได้ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ระยะเวลาประมาณ 30 นาทีต่อเรื่อง ซึ่งก็ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ชมที่ดีมากทีเดียวในแง่ของ “ความรู้สึก”


ละครเริ่มต้นด้วย Flotsam ของ ฟารีดา จิราพันธุ์ ซึ่งชื่อเรื่องแปลว่า “ของที่ลอยอยู่ในทะเล” ภาพบนเวทีเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ผู้ชมเข้าโรงละครจนครบ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินถือกระสอบทรายเข้ามา และชักชวนผู้ชมให้ออกไปเทของที่อยู่ในถุงออกมา เป็นกระดาษบางๆเหมือนถุงพลาสติกสีน้ำเงินและสีขาว กระจัดกระจายไปทั่วห้อง เด็กหญิงเล่นกับกระดาษอย่างสนุกสนาน ต่อด้วยการเต้นเพลง “ลอยทะเล” ด้วยความร่าเริง เธอขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม และขณะที่เธอเต้นอย่างมีความสุขอยู่นั่นเอง เธอก็ตกลงมาจากแท่น (ทำเอาผู้ชมตกใจไปตามๆกัน) ทุกอย่างเงียบสนิท เมื่อเธอกลับขึ้นมา มือของเธอก็เริ่มสำรวจร่างกายราวกับมีชีวิต หลังจากนั้น ภาพในจิตใจของเด็กคนนี้ก็แสดงออกมาผ่าน Movement ที่รุนแรงและทรมาน หลังจากนั้น เด็กน้อยก็กลายร่างเป็นสัตว์ป่าที่ดูน่ากลัว ก้าวร้าว เคลื่อนไหวตามสัญชาตญาณ รุนแรงราวกับถูกฉีกกระชากเป็นชิ้นๆ เมื่อทุกอย่างสงบลงเหมือนกับทะเลที่สงบนิ่งหลังการจากไปของพายุ ด้านหลังปรากฏภาพของเด็กหญิงคนหนึ่ง (รูปของพี่ฟาตอนเด็กๆนั่นเอง) ในอิริยาบถต่างๆ บนเวทีมีเด็กคนหนึ่งนั่งอยู่บนขอบหินอย่างเดียวดาย สักพักก็มีแตรเด็กเล่น สีสันสดใสลอยมาตามน้ำ เด็กหญิงเก็บขึ้นมาและพยายามเป่ามันเป็นเพลง ระบำชาวเกาะ และมีความสุขอยู่เพียงลำพัง

งานของฟารีดาทำให้นึกถึงภาพของชายหาดที่ถูกคลื่นซัด ตอนเด็กๆเรามักจะชอบขีดๆเขียนๆอะไรบางอย่างบนริมหาด หรือสร้างปราสาททรายที่สวยงาม แต่เมื่อคลื่นมาถึง มันจะถาโถมเข้าใส่ชายหาด และดูดกลืนทุกอย่างให้หายไปในพริบตา หลงเหลือแต่ผืนทรายที่ว่างเปล่า อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือเรื่องความเหงาและเดียวดาย เด็กผู้หญิงในตอนท้ายก็เหมือนกับของที่ลอยอยู่ในทะเลตามชื่อเรื่อง เมื่อแตรของเล่นที่ลอยอยู่อย่างเดียวดายมาพบกับเด็กผู้หญิง จึงทำให้ความเหงาถูกบรรเทาลงไปบ้าง เป็นแสงสว่างเล็กๆยามที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เป็นความรู้สึกที่เรามักจะสัมผัสได้เสมอเวลามองเห็นทะเล ความเหงามักจะถามหาเราเสมอ เพราะตัวมันเองก็คงจะเหงาเหมือนกัน



ต่อด้วยงานของ สินีนาฏ เกษประไพ กับเรื่อง Change ที่มีการใช้ดนตรีสดเป็น แซ็กโซโฟน เป่าโดยชายหนุ่มคนหนึ่งที่เดินเข้ามาในห้องก่อน ตามมาด้วยการเปิดตัวผู้หญิงคนหนึ่งที่ปีนเข้ามาทางหน้าต่าง(!!) ในชุดเจ้าสาว (!!!) เธอยื่นมือสองข้างให้ชายหนุ่มเหมือนเด็กๆ เพื่อให้เขาอุ้มเธอเข้ามาในห้อง เธอดูเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่งที่เริ่มมีชีวิตเมื่อชายหนุ่มเริ่มเป่าแซ็ก จากนั้นเด็กผู้หญิงก็ค่อยๆโตขึ้นเรื่อยๆ ดูสดใสไร้เดียงสา จากนั้นภาพก็ตัดมาที่ในทะเล เด็กผู้หญิงกลายร่างเป็นสัตว์น้ำนานาชนิด ที่มองเห็นชัดเจนก็คือปูเสฉวนกับแมงกะพรุน จากนั้นเจ้าแมงกะพรุนก็เริ่มวาดลวดลายโดยการเต้นประกอบเพลง “Love potion No.9” พร้อมกับยิ้มแหยๆเหมือนกับฝืนทำ จากนั้นการเคลื่อนไหวก็เปลี่ยนไป ผู้หญิงเหมือนถูกใครหรืออะไรบางอย่างบังคับอยู่ เธอพยายามขัดขืนพร้อมๆกับเสียงแซ็กโซโฟนที่ดังขึ้นจนหนวกหู แต่ในที่สุดเธอหมดแรงต่อต้าน ด้านหลังปรากฎภาพตึกในเมืองที่แน่นขนัด ในท้ายที่สุด ผู้หญิงคนนี้ก็ถอดชุดแต่งงานออก แต่เธอก็ไม่สดใสอีกแล้ว เสื้อผ้าของเธอขาดรุ่งริ่ง ด้านหลังปรากฎภาพถนนที่ทอดยาวไม่มีที่สิ้นสุดท่ามกลางภูเขาทั้งสองฟากฝั่ง เธอตัดสินใจเดินไปตามทางนั้นโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหลงเหลืออยู่ในแววตาของเธอเลย

ดูเหมือนว่าสินีนาฏมีประเด็นหลายอย่างเป็นก้อนๆ ที่สอดแทรกอยู่ในงานชิ้นนี้ แต่ก็เป็นลักษณะที่เปิดกว้าง มีพื้นที่ไว้ให้ผู้ชมคิดและเทียบเคียง แต่ประเด็นที่ชัดเจนสำหรับผู้หญิงทุกคนคือเรื่องของการแต่งงานและชีวิตคู่ ซึ่งผู้หญิงมักจะคาดหวังไว้ว่ามันจะต้องสวยงามเสมอ แต่ส่วนมากแล้วก็จะไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ เหมือนกับสมัยเด็กๆ ที่เรามักจะตื่นเต้นกับการมองเห็นทะเล และจินตนาการไว้สวยหรู แต่เมื่อลงไปเล่นจริงๆแล้ว กลับไม่มีอะไรเลย ออกจะอันตรายและน่ากลัวด้วยซ้ำไป อีกทั้งเรื่องนี้ยังทำให้นึกถึงการโหยหาความทรงจำในวันเก่าที่แสนยาวไกล สมัยที่ความคิดของเรายังไร้เดียงสาและสวยงาม ซึ่งเมื่อเราได้พบกับความเป็นจริงแล้ว เราจะไม่สามารถกลับไปหาความทรงจำเหล่านั้นได้อีกเลย

การแสดงเดี่ยวครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงมุมมอง วิธีคิด และตัวตนของผู้หญิงทั้ง 2 คนนี้ได้อย่างเข้มข้น อีกทั้งการแสดงยังมีพลังที่สามารถทำให้ผู้ชม “รู้สึก” ตามไปกับเรื่องราวของทั้งคู่ อีกทั้งยังแบ่งช่องว่างไว้ให้กับผู้ชมในการเชื่อมโยง หรือเทียบเคียงประเด็นต่างๆกับประสบการณ์ชีวิตของตนเอง I-Sea จึงเป็นการแสดงที่น่าสนใจ ราวกับทะเลที่มีเสน่ห์ดึงดูด ทำให้เราอยากสัมผัสและค้นหาความรู้สึกบางอย่างจากมัน

หลังจากการแสดงจบลง ผมหลับตาลงและสัมผัสถึงสายลมอันแผ่วเบา เสียงเกลียวคลื่นกระทบฝั่ง กับกลิ่นชายหาดและรสเค็มของน้ำทะเล แล้วถามตัวเองดูว่า “ครั้งสุดท้ายที่มองเห็นทะเล.... เรากำลังนึกถึงอะไร?”



23 April 2012

ผู้หญิงลายจุด

Dot Women

การแสดงสั้นชุด "ผู้หญิงลายจุด" เป็นการแสดงที่แตกมาจากการแสดงชุด "วันสุข" หรือ Bad Fine Day นำมาทำเป็นการแสดงหญิงล้วน 5 คน กับภาวะ เหงา เศร้า ท่ามกลางผู้คนแออัดในวันศุกร์ ร่วมแสดงในงาน Heal the Arts ที่ V64 วันที่ 25 มีนาคม 2555