28 August 2009

ไปค่ายคิดดีกันเถอะ


เริ่มแล้วกิจกรรมคิดดี 'สื่อละครเวที'
จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเยาวชนด้วยสื่อละครเวที ซึ่งจะมีน้องๆเยาวชนผู้เข้าร่วมทีมละไม่เกิน 3 คน ทั้งหมด 11 ทีม วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน 2552 โดย พี่เลี้ยงและวิทยากรจาก กลุ่มละครบางเพลย์, สถาบันคลังสมองของชาติ และจากพระจันทร์เสี้ยวการละครอีก 2 คน คือ พี่นาด ไปเป็นวิทยากร และ พี่ฐาน ไปเป็นผู้ช่วยวิทยากร

โครงการคิดดี
เป็นโครงการดีๆจาก
แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ริเริ่ม ส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ของเยาวชน ด้วยสื่อของเยาวชน เพื่อเยาวชน โดยเยาวชนทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้โครงการ “คิดดี” และแนวคิดในเชิงส่งเสริมสังคม ชุมชน และสุขภาพ ที่ว่า “ความคิดเล็กๆ สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ให้สังคมได้” ในรูปแบบสื่อร่วมสมัย อาทิ หนังสั้น โฆษณา มิวสิกวิดีโอ กิจกรรมรณรงค์ ละครเวที รายการวิทยุ นิตยสาร การ์ตูนวาด การ์ตูนแอนิเมชั่น เป็นต้น

ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://www.kiddee.org/index.php

24 August 2009

โครงการอ่านมาอีกแล้ว

ตอนนี้เรากำลังเตรียมโครงการอ่านบทละคร
"อ่านสันติภาพ"
(Read to Peace)



โดยใช้วรรณกรรม บทกวี บทละคร หรือ บทเพลง ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เราได้จัดโครงการอ่านบทละคร : อ่านเรื่องรัก ไปแล้วครั้งหนึ่ง มีคนมาเข้าร่วมโครงการอ่านกับเรา 10 คน หรือ 10 ชิ้นงาน มีผู้ชมให้ความสนใจอย่างเนืองแน่น มีการพูดคุยหลังการอ่าน จากงานนั้นเราได้รับการพูดถึงมากพอสมควร และสร้างความน่าสนเล็กๆให้กับน้องๆนักศึกษารุ่นใหม่ ที่ไม่ค่อยได้เห็นการอ่านบทละคร ซึ่งก็เป็นการแสดงอีกรูปแบบนึง


และที่สำคัญในพื้นที่เดียวกันเราได้เห็นมุมมองอันหลากหลายจากเรื่องที่เราอ่าน ทั้งจากมุมมองเจ้าของหนังสือ จากมุมมองของผู้สร้างงาน ได้พูดคุยสะท้อนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อีกทั้งจากคนทำงานและคนมาดู

ครั้งนี้ก็เลยอยากชวนนักทำละครมาอ่านกันอีกครั้ง แต่ประเด็นหัวข้อในครั้งนี้ก็จะเข้มขึ้นอีกนิด จะชวนมาสะท้อนเรื่องของ “สันติภาพ” กันดู ว่าเรามองคำคำนี้กันว่ายังไงบ้าง อาจจะลองมองดูจากหนังสือที่เราชอบ สนใจ หรือ ที่เราอยากทำ อยากพูดถึง ซึ่งจะเป็นหนังสือ นวนิยาย เรื่องสั้น บทความ บทละคร บทกวี หรือ บทเพลง ก็ได้ เราอยากเห็นมุมมองอันหลากหลายที่แผ่ขยายจากเรื่องความรักไปสู่สันติภาพ


โครงการนี้ร่วมแสดงในงาน ศิลปกับสังคม “อภิวัฒน์สู่สันติ” ในวาระครบรอบ 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จัดแสดงวันที่ 24-25 ตุลาคม 2552 เวลา 13.00 และ 15.30 น.@ Crescent Moon Space สถาบันปรีดี พนมยงค์

ติดตามรายละเอียดได้เร็วๆนี้


22 August 2009

เมื่อพระจันทร์คืนเสี้ยว

เมื่อพระจันทร์ 'คืน' เสี้ยว
(ภาคต่อของ “พระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย”
โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง)


๑๐ ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ คำรณ คุณะดิลก ได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วสร้างสรรค์ละครเวทีสามัญชน เรื่อง "คือผู้อภิวัฒน์" อันเป็นเรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในนามของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว พร้อมทั้งลบคำสบประมาทที่วิจารณ์ว่าละครเวทีไทยยังอ่อนด้อยและขาดไร้ประสบการณ์ลงได้อย่างสิ้นเชิง

ปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คำรณ คุณะดิลก ได้ชักนำหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่สนใจสร้างงานละครเวทีอย่างเป็นอาชีพในนาม "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมแสงอรุณ เข้ามาช่วยผลักดันกระตุ้นจนเกิดความตื่นตัวให้กับวงการละครเวทีไทยอีกครั้ง และมีผลงานละครเวทีออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กูชื่อพญาพาน, ความฝันกลางเดือนหนาว, ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ, มาดามเหมา, กระโจมไฟ, ตลิ่งสูงซุงหนัก, พระมะเหลเถไถ, คำปราศรัยของนาย ก. ฯลฯ (13) จวบจนปัจจุบันผลงานละครเวทีของ "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" ซึ่งทอดส่งมายังนักการละครรุ่นใหม่นั้นเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ

ณ วันนี้เสี้ยวแสงแห่งรัตติกาลยังคงทอฉายด้วยศรัทธาที่มุ่งมั่น แม้จะไม่เรืองรองจนส่องทาง หาก "พระจันทร์เสี้ยวการละคอน" กลับพอใจในแสงเรื่อเรืองของตน และพร้อมจะสร้างสรรค์ฉากของชีวิตที่สะท้อนภาพสังคมให้ผู้ชมได้ขบคิดสืบต่อไป เฉกเช่นบทกวีที่คำรณ คุณะดิลกได้กล่าวไว้

"เราเป็นนก ประดับดงไม้
รับฟัง บทเพลงที่เราร้อง
แต่อย่ากู่ขานชื่อเราเลย..."


อ่านบทความเต็มๆพร้อมแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้ที่
http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999920.html



++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ
(1) นำชื่อมาจากนวนิยายเรื่อง"ทางสายพระจันทร์เสี้ยว" ของ ประภัสสร เสวิกุล
(2) ยุคนี้เป็นยุดสมัยหรือช่วงเวลาที่นักศึกษามีความภาคภูมิใจในสถานภาพของตนเอง กล่าวคือ เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคม และมีความสุขสำราญในการใช้ชีวิตทุกด้าน นักวิชาการบางท่านเรียกว่ายุค "สายลมแสงแดด" นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้แทบไม่มีใครทราบอดีตเลยว่า ใครเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมีความเป็นมาอย่างไร ใช้เวลาไปกับการแข่งขันกีฬา, พาเหรด แบ่งสี สถาบัน จำกัดกิจกรรมในแวดวงกีฬา และบันเทิง ไม่สนใจสังคมและการเมือง ไม่ใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน, http://www.2519.net/
(3) เป็นยุคที่ประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ มีการสร้างกลุ่ม ชมรม องค์กรนักศึกษา ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวงกว้าง ทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งมีผลสะท้อนกลับ คือ ทำให้นักศึกษากลายเป็นพลัง และกลุ่มกดดันทางสังคม เป็นยุคที่รู้จักกันดีในชื่อ "ยุคฉันจึงมาหาความหมาย" จากอิทธิพลทางความคิดและบทกวีอมตะจากหนังสือเพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ของวิทยากร เชียงกูล, http://www.2519.net/
(4) ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๗ ณ ทุ่งพระสุเมรุ สนามหลวง โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่าง นิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันและควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ จนได้ถือเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในการแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่ารายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้ง, "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php
(5) งิ้วธรรมศาสตร์ หรืองิ้วการเมือง เปรียบได้ว่าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต ก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะการแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยสะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านการแสดงละครที่สนุกสนานและเสียดสีได้อย่างแสบร้อน ทั้งดึงดูดความสนใจด้วยการนำผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงสังคมมาเป็นตัวแสดง หรือการแสดงในแบบจรยุทธ์ โดยเล่นตามม็อบหรือความเคลื่อนไหวบนสถานการณ์การเมืองที่สำคัญ นับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม, พฤษภาทมิฬ และล่าสุดคือเหตุการณ์การขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, อรการ กาคำ, "มหรสพสยบมาร", กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙.
(6) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ, ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙.
7) ชาวโปล คนหนึ่งที่ชื่อว่า Jerzy Growtowski เป็นผู้เรียกละครแนวนี้ว่า Poor Theatre เขามีความคิดว่า ละครของพวกคนรวย ที่ใช้ฉาก แสงเสียง เสื้อผ้า หรือองค์ประกอบอื่น ๆ นั้น ไม่มีประโยชน์ และPoor Theatre ก็คือละครที่ไม่ใช้อะไรสักอย่างนอกจากที่จำเป็นเท่านั้น , "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ www.dass.com
(8) Jerzy Growtowski ชาวโปล เขาเป็นผู้นิยามละครแนว Poor theatre และเป็นผู้ตั้งคณะละคร The Polish Theatre Laboratory ขึ้นในปี ๑๙๕๙
เพื่อหาแนวทางในการแสดงรูปแบบใหม่ ที่นักแสดงไม่ต้องจำกัดตัวเองอยู่กับสิ่งต่างๆภายนอกเลย แต่จะใส่ใจอยู่ที่การแสดงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเอง ละครของเขาจึงไม่ใช้การแต่งหน้า เสื้อผ้า หรือฉากที่สมจริงในการแสดง ให้ความสนใจแต่ร่างกายและจิตใจของนักแสดงเท่านั้น, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(9) แนวละครร่วมสมัยในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เน้นหนักไปยังความสามารถของนักแสดงและความสัมพันธ์กับผู้ชม, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
10) ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา เริ่มสนใจและศึกษาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ว่า มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์ Therese Raquin นวนิยายที่เขียนขึ้นโดย Emile Zola เป็นนวนิยายในแนว Naturalism หรือธรรมชาตินิยม ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะและงานละครในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นักการละครยุคนั้นจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเลียนแบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รอบตัวมนุษย์ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉากที่ให้รายละเอียดที่สมจริง หรือการที่นักแสดงจะพยายามแสดงให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยพยายามที่จะศึกษาลึกลงไปในภูมิหลังและความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครต่าง ๆ Stanislavsky นักการละครที่โด่งดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาธรรมชาตินิยมนี้, "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐", (ibid).
(11) แมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky หรือ Gorki) มีความหมายว่า "แมกซิมผู้ระทมขมขื่น" เป็นนามปากกาของอเลกเซ แมกซิโมวิช เพสคอฟ (Alexi Maximovich Peshkov) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ซึ่งได้สร้างสรรค์วรรณกรรมสะท้อนให้เห็นถึงความยากแค้นลำเค็ญของสังคมขึ้นมาอย่างมากมาย ผลงานของเขาถือได้ว่า "ปลุกเร้าวิญญาณของมวลมนุษย์" โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องแม่ โดยฉากของนิยายในเรื่องทั้งหมดเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง รวมถึงเหตุการณ์และการจำลองชีวิตของบุคคลที่ไม่ได้รับความยุติธรรรมในสังคมมาใส่ไว้ในเรื่อง การดำเนินชีวิตของ ปาเวล วลาสซอฟ นั้นลอกเลียนมาจากชีวิตจริงของ ปาเวล ซาโลมอฟ ซึ่งเป็นผู้เดินนำกรรมกรในวันเมย์เดย์และถูกตี ถูกจับ ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลานาน ส่วนแม่ของปาเวล นิลอฟน่า เป็นภาพรวมจากชีวิตแม่ของซาโลมอและแม่ของ Kadomtsev กรรมกรนักปฏิวัติ
เหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวปฏิวัตินั้นสตรีชาวรัสเซียที่เป็นแม่และเป็นกรรมกรมากมาย มีส่วนช่วยลูกและต้องเข้าคุกไปด้วย หลังจากหลบลี้ภัยการเมืองไปในหลายประเทศ และที่อเมริกานี้เองกอร์กี้ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "แม่" ขึ้นมา หากเมื่อนำไปตีพิมพ์ที่รัสเซียเป็นครั้งแรกนั้นเรื่องแม่ตอนแรกที่ออกมาถูกยึดทำลายหมด และตอนที่สองก็ถูกเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการเสียจนอ่านไม่ได้เรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีหนังสือเรื่อง "แม่" ที่พิมพ์โดยผิดกฎหมายออกมามีเนื้อหาครบถ้วน และไม่นานเรื่อง "แม่" ก็ถูกแปลไปหลายภาษาทั่วโลก รัฐบาลพระเจ้าซาร์โกรธมากที่มีหนังสือเรื่อง "แม่" ตีพิมพ์ออกมา สั่งจับกอร์กี้ในฐานะผู้เขียน กอร์กี้หนีรอดพ้นเงื้อมมือของตำรวจไปได้โดยไปอยู่ที่เกาะคาปรี
เมื่อกอร์กี้กลับมารัสเซียนั้น เขากลับมาอย่างผู้มีชัย สถานที่บ้านเกิดของเขาซึ่งเป็นฉากท้องเรื่องของนวนิยายเรื่อง "แม่" ได้รับการขนานนามใหม่ว่า "กอร์กี้" เพื่อเป็นเกียรติใน ค.ศ. ๑๙๓๒, เรียบเรียงจาก จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล), แม่, แปลจาก MOTHER โดย Maxim Gorky, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ดอกหญ้า : กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓, ๑๑-๑๓ (เบื้องหลังความเป็นมาเรื่อง "แม่" โดยภิรมย์ ภูมิศักดิ์)
(12) "ละครกับประชาธิปไตย: ๓๐ พระจันทร์เสี้ยว", กรุงเทพธุรกิจ.
(13) http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/


++++++++++++++++++++++++++++

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑. เอกสารประกอบงานพระจันทร์เสี้ยวการละคอน มุมสะท้อนประชาธิปไตยไทย
๒. http://www.2519.net/
๓. "กำเนิดฟุตบอลประเพณี", http://campus.sanook.com/u_life/cu-tu62.php (บทความ)
๔. อรการ กาคำ. "มหรสพสยบมาร". กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๕. "รูปแบบของละครในศตวรรษที่ ๒๐". แดสเอนเตอร์เทนเมนท์ (บทความ)
๖. "ละครกับประชาธิปไตย": ๓๐ ปีพระจันทร์เสี้ยว. กรุงเทพธุรกิจ, ๒๕๔๙. (บทความ)
๗. จิตร ภูมิศักดิ์ (ผู้แปล). แม่. จาก MOTHER โดย Maxim Gorky. พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๓
๘. http://www.bkkonline.com/movie/drama/moon/


21 August 2009

ชมรมพระจันทร์เสี้ยว

ปีนี้ครบรอบ 40 ปี ชมรมพระจันทร์เสี้ยว

พี่นกป่าจากเครือข่ายนักเขียน ได้จัดรายการวิทยุและสัมภาษณ์ใครหลายๆคนเกี่ยวกับคนในชมรมนี้ไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เท่าที่รู้ก็จะมีพี่เวียง วัชระ บัวสนธ์ นักศึกษาที่ติดตามผลงานของ อ.วิทยากร เชียงกูร ผู้สนใจงานของ สิงห์ สนามหลวง หรือ พี่สุชาติ สวัสดิศรี และ สินีนาฏ เกษประไพ ลูกศิษย์ทางการละครของ คำรณ คุณะดิลก เราจะพยายามติดตามขอเทปมาแกะเป็นข้อมูลแล้วนำมาลงในอนาคตที่อาจจะนานสักหน่อย

เนื่องในวาระสำคัญเช่นนี้เราเลยขอตัดบางตอนจากบทความเกี่ยวกับ ชมรมพระจันทร์เสี้ยว และ พระจันทร์เสี้ยวการละคร ในงาน 30 ปี พระจันทร์เสี้ยวการละคร หรืองานฉลอง 60 ปี ครูคำรณ คุณะดิลก ที่จัดไปเมื่อสามปีก่อนที่หอศิลป์ตาดู เพื่อไว้เป็นความรู้ในการค้นคว้า และเพื่อเราสมาชิกรุ่นใหม่ก็จะได้รู้รากเหง้าที่มาที่ไปของเรา บทความนี้นำมาจากเว็บไซด์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (ลำดับที่ 1010) ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2549

ดูเพิ่มเติมที่


พระจันทร์เสี้ยวการละคอน
มุมสะท้อนวิญญาณประชาธิปไตย

โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง (นักวิชาการอิสระ)


“ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มละคอนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และศิลปะการละครอันมีเนื้อหาในการส่งเสริมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไทย ทั้งยังสะท้อนภาพสังคมโดยใช้สื่อการแสดงเป็นเครื่องมือสำคัญ จนถือได้ว่าเป็นต้นแบบของละครเพื่อชีวิต”


ประวัติ : ทางสายพระจันทร์เสี้ยว (1)

"พระจันทร์เสี้ยว" เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยที่สนใจด้านวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธุ์, วิทยากร เชียงกูล, ธัญญา ผลอนันต์, นิคม รายวา, วินัย อุกฤษณ์, เธียรชัย ลาภานันท์ เป็นต้น

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รื้อความทรงจำถึงการก่อตัวและที่มาของคำว่าพระจันทร์เสี้ยวไว้ดังนี้
"การก่อเกิดพระจันทร์เสี้ยว มันก็ไม่มีระบบระเบียบอะไรที่เป็นทางการ แต่จุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจจะเป็นการก่อเกิดอันแรก คือเราร่วมกันทำหนังสือ เราเรียกว่าเป็นหนังสือเล่มละบาท ซึ่งถือเป็นจุดก่อเกิดที่ทำให้พวกเรามารวมตัวกัน ในสมัยนั้นการทำหนังสือจะต้องไปขออนุญาตกับทางสันติบาล การเกิดหนังสือเล่มละบาทขึ้นมาก็ด้วยเหตุเพราะมันทำหนังสือในระบบไม่ได้ หนังสือของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเท่าที่ผมจำชื่อได้ คือธุลี, ตะวัน, ปัญญา, นาคร, ลานโพธิ์ และยังมีอีกหลายเล่ม ส่วนคำว่า พระจันทร์เสี้ยวนั้นต้องให้เครดิตคุณวีระประวัติ วงศ์พัวพัน คือเขามีกลุ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า crescent moon แล้วเขาก็เอาคำ ๆ นี้มาแปลเป็นไทย ว่าพระจันทร์เสี้ยว"

บริบทแห่งยุคสมัย จากยุคสายลม-แสงแดด (2)


ราวปี ๒๕๐๕ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนรวม จนมาถึงในปี ๒๕๑๐ จุดเริ่มของยุคแสวงหา (3) ซึ่งเกิดการพูดคุย, วิพากษ์, ถกเถียง แล้วจึงนำไปสู่การรวมกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น. วิทยากร เชียงกูล เล่าถึงบรรยากาศของกิจกรรมนักศึกษาในยุคสมัยนั้นว่า

"ในยุคนั้นถือว่าเราเป็นนักศึกษากลุ่มน้อย เพราะว่าศิลป-วัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ก็มีแต่เพลงเชียร์ฟุตบอลประเพณี (4) เป็นอย่างมาก และก็งิ้วธรรมศาสตร์ (5) เราเป็นพวกที่สนใจหนังสือ ที่สำคัญก็คือว่าการสนใจหนังสือทำให้คุยกันได้นาน คือเราอยากแสดงออกแต่เรายังหาวิธีของมันไม่ค่อยได้ เพราะว่าสมัยนั้นหนังสือในตลาดก็มีน้อย จะมีก็แต่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์แล้วก็ชาวกรุง...เราจึงพิมพ์หนังสือกันขึ้นมาเอง"

เมื่อวิทยากรได้รับเลือกเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบกับกรรมการชมรมฯ ในปีนั้นเป็นกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเสียส่วนใหญ่ พวกเขาจึงได้ร่วมกันปรับรูปเปลี่ยนร่างให้กับหนังสือของชมรมวรรณศิลป์ ด้วยการเพิ่มเติมเนื้อหาของเรื่องสั้น, บทวิจารณ์หนังสือ, ปรัชญา ภายใต้แนวคิดที่ว่าวรรณกรรมต้องสะท้อนทั้งภาพของสังคมและชีวิต

สุชาติกล่าวเสริมเติมต่อ"หลังจากปี ๒๕๑๒ กิจกรรมที่ทำเริ่มมีความสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น…ในเวลานั้นยังมีกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวยของสุจิตต์-ขรรค์ชัย, กลุ่มดำแดงปริทัศน์ของวิรุณ ตั้งเจริญ, กลุ่มวลัญชทัศน์ที่เชียงใหม่ พวกสถาพร ศรีสัจจัง, นิติ อภิรักษ์โสภณ, อารมณ์ พงศ์พงัน ที่โคราช, ธัญญาอยู่สภากาแฟที่ ม.เกษตร และมันก็เป็นผลสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันที่ก้าวพ้นจากองค์กรนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

กลุ่มอิสระเหล่านี้มีจุดร่วมกันของความรู้สึกโหยหาที่จะกลับไปหาสิ่งที่ตัดต่อความทรงจำในยุคเก่าให้ต่อกับสิ่งที่เป็นรากเหง้าเดิมของบรรดานักคิด, นักเขียนที่ถูกตัดตอนออกไปในช่วงสมัยจอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์ กลุ่มต่าง ๆ นั้นได้มีจุดร่วมกันอีกอย่าง คือเป็นขบถทางความคิด เป็นจิตวิญญาณขบถ...สิ่งที่เห็นได้ชัด คือขบถทางการศึกษา ส่วนที่วิพากษ์คือไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ... แล้วสังคมก็ยังอยู่ในภาวะกึ่งเผด็จการ การดิ้นรนเพื่อจะทำกิจกรรมจึงเกิดขึ้นและเป็นกระแสต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิด 14 ตุลา"

ฉากของชีวิต

ในเวลาต่อมาสมาชิกของชมรมพระจันทร์เสี้ยวบางคนได้เริ่มหันมาสนใจเขียนบทละคร อาทิ "ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก", "นายอภัยมณี ", "งานเลี้ยง" ของวิทยากร เชียงกูล, "ชั้นที่ ๗" ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี, "นกที่บินข้ามฟ้า" ของวิทยากร เชียงกูล และคำรณ คุณะดิลก เป็นต้น จากการเขียนเพื่ออ่านได้เชื่อมโยงไปสู่การทำละครเวที

"นายอภัยมณี" เป็นละครเวทียุคแรกจากบทละครที่เขียนขึ้น เพื่อล้อเลียนเรื่องพระอภัยมณีของวิทยากร เชียงกูล ได้จัดแสดงขึ้น ณ สยามสมาคมโดยมีคำรณ คุณะดิลกรับบทนายอภัยมณี รวมถึงวิทยากร เชียงกูล, เกริกเกียรติ นิติพัฒน์ และธัญญา ผลอนันต์ ที่ขณะนั้นเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมแสดงด้วย

ปี ๒๕๑๔

กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในกระบวนการผลิตละครเรื่องอวสานเซลล์แมน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรับผิดชอบด้านฉาก แสง เสียง รวมทั้งแสดงนำเป็นตัวละครเอก "อวสานเซลล์แมน" เป็นบทละครดัดแปลงจากงานเขียนของนักเขียนอเมริกันชื่อดัง (6) มีเนื้อหาเสียดสีสังคมของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม และต่อเนื่องด้วย "ชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓" ที่ฉายภาพความล่มสลายของวัฒนธรรมชุมชนพร้อมทั้งนำความแปลกใหม่มาสู่วงการละครไทยด้วยการสร้างสรรค์ผลงานละครในรูปแบบ POOR THEATRE (7) แล้วนำทฤษฎีการละครของ JERZY GROTOWSKI (8) มาปรับใช้เพื่อสอดผสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสดงและผู้ชมให้เข้าถึงจิตวิญญาณของละคร กลวิธีนี้นำมาจากต้นแบบของ BRECHTIAN THEATRE (9) ซึ่งเป็นแนวละครแถวหน้าของละครร่วมสมัยในศตวรรษ ๒๐. คำรณ คุณะดิลก ได้กล่าวถึงละครเรื่องนี้ว่า

"ก่อนที่ผมจะออกไปสอนทางด้านการละครที่เชียงใหม่ แกรี่ (อาจารย์ชาวต่างชาติผู้สอนวิชาการละคร ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ให้หนังสือของ JERZY GROTOWSKY แก่ผมเล่มหนึ่ง ซึ่งพูดถึงทฤษฎีของการละครของ Stanislavsky (10) ในระดับของจิตวิญญาณความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับคนดู คือไม่มีฉาก ไม่มีแสง ไม่มีเมคอัพ และสอดคล้องกับเราพอดีที่ไปอยู่เชียงใหม่ แล้วได้เห็นความล่มสลายของสังคมชนบท สังคมเกษตรกรรมในยุคก่อนตุลาฯ จึงได้นำมาสร้างเป็นละครเรื่องชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓"

จนกระทั่งปี ๒๕๑๘

ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมเปิดฉากด้วยละครเรื่อง "แม่" ของแมกซิม กอร์กี้ (11) กับเรื่องราวต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมแต่เชื่อมั่นในสัจธรรมเหนือสิ่งอื่นใด และละครเรื่อง "นี่แหละโลก" ที่ขับเน้นภาพความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของคนในสังคมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ภายหลังเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครได้ก่อตั้งคณะละครชื่อ "แฉกดาว" โดยนำละครไปจัดแสดงตามโรงงาน, ชุมชน, ม็อบและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถือเป็นจรยุทธ์ในการรุกคืบเข้าสู่มวลชน อาทิ ละครเรื่อง "ก่อนอรุณจะรุ่ง" ด้วยการนำบทละครเรื่องชนบทหมายเลข ๑, ๒, ๓ มาดัดแปลงใหม่, ละครเรื่อง "แซมมี่จอมยุ่ง" ที่พูดถึงการรุกรานแทรกซึมของอเมริกา ในยุคที่บทเพลงอเมริกันอันตรายกระหึ่มก้อง

หากระหว่างนั้นเองมีสมาชิกของชมรมฯ ได้ถูกจับกุมคุมขังและหลบหนีภัยทางการเมืองจนแตกกระสานซ่านเซ็นอย่างไร้ทิศทาง บางคนถึงกับต้องหลีกลี้ไปยังต่างประเทศ จากเหตุการณ์ดังกล่าวฉากแห่งชีวิตของชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละครจึงค่อย ๆ หรี่แสงรูดม่านปิดลง แต่ม่านชีวิตของคำรณ คุณะดิลกยังคงเปิดฉากต่อไปในประเทศฝรั่งเศส โดยคำรณได้เข้าร่วมกับคณะละคร THEATRE DE LA MANDRAGORE เป็นทั้งนักแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับ มีผลงานเรื่อง Antigone, Woyzeck, Leon&Lena, La Mort de Danton, L' Avar, La Mort de Bucher, Escalade, La Libbration, L' Eneme and Terminal ออกแสดงตามประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, อียิปต์, จอร์แดน, เลบานอน, สวีเดน, โมรอคโค, ตูนิเซีย, กอบอน, การ์คาร์ และซูดาน (12)

20 August 2009

Seoul Fringe Festival 2009


เมื่อปีที่แล้วได้รับเชิญให้ไปเสวนาละครในหัวข้อ “Thai Contemporary Theatre” ในงานเทศกาล Seoul Fringe Festval 2008 ที่โซลเกาหลีใต้

ซึ่งครั้งนั้นเขาจัดมาเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ปีนี้เริ่มตั้งแต่ 14 - 31 สิงหาคม ในงานก็จะมีทั้งละครเอ้าท์ดอร์ และอินดอร์ คือ เล่นที่บริเวณถนนแถว Hongik University โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 เวที และในโรงละครอีก 4 โรง คือ Theatre Choo, Ye Theatre, Theatre Zero และ Post Theatre ซึ่งเป็นโรงละครขนาดประมาณ 100 ที่นั่ง คนดูก็เกือบเต็มทุกรอบ (สังเกตุจากรอบที่ได้มีโอกาสไปดู)

ในงานก็จะมีทั้งละคร ด๊านซ์ ดนตรี และศิลปะ แสดงทุกวัน เริ่มตั้งแต่เวลาเย็นๆไปจนถึงสักสามทุ่ม ในแต่ละปีจะมีการแสดงเกือบ 300 ชุด นอกนั้นก็มีเสวนา จัดที่ตึกแสดงงานศิลปะชื่อ Sangsangmadang และ Artist Talk ซึ่งเขาจะจัดหลังจากการแสดงชุดนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว

มีโอกาสไปดูละครและด๊านซ์ ประมาณ 10 ชุด (วันหลังๆไม่มีเวลาได้วิ่งดูอะไรเท่าไหร่ เพราะต้องประชุม ไปดูโรงละครที่ถนนแดฮังโรที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนสายละครเวที และต้องพบปะกับใครหลายคน) และดนตรีอีก 2 ชุด ปีนี้มีโปรดักชั่นจากต่างประเทศมาร่วมด้วย อาทิตย์แรกนี้มีสองโปรคือ จาก Fan Troup จากปักกิ่ง และ Mime Lab จากฮ่องกง
ได้เห็นบรรยากาศของศิลปิน และคนดู ก็อบอุ่นดี เป็นกันเอง รวมทั้งฝนตกแล้วทีมงานต้องย้ายของ ขนของหลบฝนกัน พอฝนหยุดตกก็ขนของย้ายของกลับมาตั้งเหมือนเดิม บรรยากาศคล้ายๆกับเทศกาลละครกรุงเทพของบ้านเรา

การเริ่มต้นเกิดเทศกาลนี้ก็คล้ายกับเทศกาลของบ้านเราเหมือนกัน คือ กลุ่มละครเล็กๆรวมทั้งวงดนตรีอินดี้ที่ไม่มีที่ทางจะได้แสดงตัวและแสดงผลงาน เทศกาลนี้จึงเกิดขึ้นจากแรงและการร่วมมือของคนรักละครและศิลปิน จนถึงปีนี้เข้าปีที่ 11 แล้ว ด้วยสโลแกนที่ว่า "Fostering the Soil for Independent Art"

ปีนี้ก็เช่นกัน Seoul Fringe Festival 2009 จัดเป็นครั้งที่ 12 แล้ว ระหว่างวันที่ 13 – 29 สิงหาคมนี้ สืบเนื่องมาจากปีที่แล้ว ที่Seoul Fringe ได้ทำคความรู้จักกับกลุ่มละครเวทีไทย ปีนี้เขาเลยมีธีมพิเศษว่า Focus Bangkok โดยเชิญการแสดง 2 ชิ้นจากกรุงเทพ คือ Venus Party ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร และ Goda Gardener ของกลุ่มบีฟลอร์ ไปร่วมแสดง และร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย Artist Talk

แต่เนื่องจากเศษรษฐกิจตก การสนับสนุนคงหาได้ยากขึ้น ทางเรา 'พระจันทร์เสี้ยวการละคร' หลังจากพยายมติดต่อกระทรวงนั้นกระทรวงนี้อยู่สองกระทรวง แต่ก็ยังไม่สามารถหาผู้สนับสนุนใจดีมาออกค่าตั๋วเครื่องบินให้กับนักแสดงและทีมงานของเราได้ เราจึงไม่สามารถไปร่วมงานนี้ได้ จึงมีเพียงบีฟลอร์กลุ่มเดียวที่เดินทางไปแสดง Goda Gardener ในช่วงอาทิตย์นี้

สำหรับเรา 'พระจันทร์เสี้ยวการละคร' ก็คงต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อเก็บสตางค์หยอดกระปุกออมสินตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า เพื่อซื้อตั๋วเครืองบินเพื่อไปร่วมงานระดับนานาชาติได้

หากใครสนใจเทศกาล Seoul Fringe Festival ลองคลิ๊กเข้าไปดูได้ที่นี่




บันทึกโดย สินีนาฏ เกษประไพ


19 August 2009

Make it fake but real


Make it fake but real

บทสัมภาษณ์และเขียนโดย วรัญญู อินทรกำแหง

จากนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนตุลาคม ปี 2549


คำรณ คุณะดิลก
ผู้ก่อตั้ง ”พระจันทร์เสี้ยวการละคร” ปี 2518 หลังเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 คำรณเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เป็นนักแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับคณะละคร Theatre de la Mandragore ปัจจุบันมีผลงาน Re-stage เรื่องความฝันกลางเดือนหนาว จัดแสดงในช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์


ละครคือความพยายามย่อส่วนชีวิตของมนุษย์
มันไม่ใช่ของจริง แต่ก็ไม่ใช่ของปลอม
เราทุกคนเคยเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็กๆ
มนุษย์ทุกคนเป็นนักแสดงได้ทั้งนั้น เด็กผู้ชายเล่นเป็นตำรวจจับผู้ร้าย เด็กผู้หญิงเล่นขายข้างแกง ตอนนั้นเราเชื่อในบทบาทสมมตินั้นจริงๆ แต่เมื่อเราโตขึ้น มนุษย์ทำส่วนนี้หายไป เพราะเราพยายามฟอร์มบุคคลิกภาพขึ้นมา
ความขัดแย้งเป็นพลังขับเคลื่อนที่จำเป็น
เพราะความขัดแย้ง เราจึงมองเห็นอุปสรรคและความพยายามของมนุษย์ในการต่อสู้กับอุปสรรคนั้น ก่อให้เกิด Dramatic Tension อันเป็นความงาม อันเป็นสุนทรียะ
เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งไหนมีความหมายอย่างแท้จริง
เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะมีความหมาย นักแสดงไม่ใช่คนธรรมดาที่ขึ้นไปอยู่บนพื้นที่ว่างเปล่าที่เรียกว่าเวที แต่ต้องเดินผ่านพิธีกรรม หรือ Ritual Behavior เหมือนกับการที่เราทำอะไรเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะฉะนั้นทุกความเคลื่อนไหว ทุกการกระทำ จึงเต็มไปด้วยความหมาย
สตานิลาฟสกี้นักการละครชาวรัสเซีย
กล่าวว่า “เวลาเป็นนักแสดงคุณต้องรักศิลปะที่มีอยู่ในตัวของคุณ ไม่ใช่รักตัวตนของคุณที่อยู่ในศิลปะ” คุณต้องเข้าใจก่อนว่าตัวตนเป้นแค่สิ่งสมมติหรือภาพหลอน การยืนอยู่บนเวทีแล้วรู้สึกอาย ไม่รู้จะเอามือไปวางไว้ไหน เป็นเพราะเรายึดถือกับตัวตนหรืออัตตาของตนเอง
นักแสดงที่ดีต้องเข้าใจและเข้าถึงภาวะของอนัตตาเป็นครั้งคราว
แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยการฝึกฝน ถามว่าฝึกหนักขนาดไหน ก็พอๆกับคนที่ฝึกสมาธินั่นแหละ
ศิลปะแขนงอื่นอย่างงานจิตรกรรมหรือปฏิมากรรม
พยายามเคลื่อนเข้าไปสู่นามธรรม แต่สิ่งที่เราพยายามทำ คือทำเรื่องที่เป็นนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับคนดู
สำหรับงานเขียน คุณนั่งอยู่ในห้อง เขียนงานเสร็จปุ๊บ เซ็นต์ชื่อ แค่นี้ก็สมบูรณ์แล้ว แต่ละคร คุณซ้อมอย่างไรก็ไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ เพราะมันไม่เหมือนจังหวะของการสื่อสารตอนที่มีคนดูเกิดขึ้น
สไตล์เป็นสิ่งที่เรานำมารับใช้การสื่อสาร
เนื้อหาเป็นตัวกำหนดสไตล์ เรื่องบางเรื่องถ้านำเสนอในแนวสมจริง ก็จะมีความยาวมากเพราะต้องเสียเวลาในการสร้างและพัฒนาบุคคลิกของตัวละคร ถ้าไม่มีเวลา 3 ชั่วโมง อย่าง Death of Salesman หรือละครของเชคอฟก็ต้องหาการสื่อสารใหม่
เราไม่ได้ทำละครการเมือง การเมืองต่างหากมายุ่งกับละคร
ในละครมีตัวละคร และตัวละครก็คือมนุษย์ที่อาจมีปัญหาภายในตัวเอง ปัญหาภายในสังคม หรือปัญหาระหว่างกลุ่มสังคม จึงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือการเมือง
คนเราไม่มีใครเป็นคนดีตลอด 24 ชั่วโมง บางทีก็อาจเฉไฉไปได้
แต่ดาวเหนือก็ยู่ตรงนั้น ถ้าเฉไป เราก็แค่กลับมาเดินตามทิศทางเดิม คนดูรู้สึกอย่าง ที่เราอยากให้เขารู้สึกขณะที่อยู่ในโรง แต่ภ้าออกไปแล้วเขาจะลืมมัน ก็ช่วยไม่ได้ อย่างน้อยให้เขารู้ว่ามันมีมันเกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้ก็เพียงพอแล้ว เผื่อวันหนึ่งมีอะไรที่เขาอาจช่วยเหลือคนอื่นได้ สิ่งที่เราทำมันก็ไม่สูญเปล่าหรอก
พูดคำว่า “สลัม” แล้วให้คุณนึกถึงคำ 3 คำ
คุณนึกถึงอะไรบ้าง น้ำเน่า ข่มขืน ยาเสพติด ถามว่าในสลัมมีครอบครัว มีความรัก มีความสุขไหม คนไม่ค่อยนึกถึงกันนะ เพราะมันถูกให้ความหมายตามการรับรู้ซ้ำๆ ทำนองเดียวกัน เมื่อพูดถึงศิลปะการละคร คนเรามักนึกถึงแต่ความบันเทิง มันถูกแย่งชิงความหมายไป
โลกนี้ไม่ได้เป็นของหงษ์แต่เพียงผู้ดียว
กาก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมด้วย เมื่อถูกแย่งชิงความหมายไป เราต้องสร้างความหมายใหม่ เราไม่ได้มีหน้าที่ทำตลก หรือสร้างความพอใจเหมือนโสเภณี เราอยากคุยกับคนดู แต่เราอยากเป็นคู่สนทนาที่เวลาเขามีทุกข์ หรือสงสัยว่ามนุษย์เป็นอย่างไรแล้วมาคุยกับเรา ถ้าต้องการคุยเรื่องเดอร์ตี้โจ๊กก็ไปคุยกับคนอื่น แต่วันหนึ่งคุณก็น่าจะมีเพท่อนไว้หลายๆแบบนะ
คุณอยากกินโจ๊กที่เอาเข้าปากแล้วไม่ต้องเคี้ยวตลอดไปไหม
อีกหน่อยฟันฟางคุณจะหล่นหมด เพราะฟังก์ชั่นมันมีไว้ให้ใช้งาน ฟังก์ชั่นของสมองก็มีไว้ให้ใช้ความคิดเหมือนกัน ไม่ลองเคี้ยวหน่อยล่ะ เคี้ยวแล้วคุณอาจจะชอบรสชาติมันก็ได้
ก็เหมือนกับการดูภาพเขียน คุณไม่ต้องดูรู้เรื่องก็ได้
แต่ควรจะรู้ว่ารู้สึกอย่างไร การที่ผู้ชมจะสามารถชื่นชมซาบซึ้งกับงานศิลปะได้ ต้องอาศัยการเติบโตร่วมกันระหว่างศิลปินและผู้ชม
แม้เราเห็นการทำลายล้างเกิดขึ้นตลอดเวลา
แต่ถ้ามนุษย์เกิดมาเพื่อที่จะเป็นผู้ทำลายจริง ป่านนี้อะไรๆคงหมดไปนานแล้ว ผมยังมองในแง่ดีว่ามนุษย์สามารถเติบโตต่อไปได้ และในยุคต่อไป มนุษย์จะมองเห็นถึงภารกิจในการค้นหาว่าเราเกิดขึ้นมาทำไม
ศิลปะการละครไม่มีทางหายไปจากโลกนี้
อนาคตโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ Virtual Reality ทั้งโลกไซเบอร์ของอินเตอร์เน็ต หรือต่อไปอาจจะมี Virtual Make Love แต่สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงจำแลง สิ่งที่เราขาดและโหยหาคือ Reality ศิลปะการละครเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์สามารถจับกุมความจริงเอาไว้ได้

หมายเหตุ:
ตอนนี้เรากำลังอพัเดทเว็บไซด์ พระจันทร์เสี้ยว มีข้อมูลรีวิวและบทความเข้ามาเพิ่มเติม และบทสัมภาษณ์นี้ก็เพิ่งจะเพิ่มเข้ามา เลยนำคำคมของครูมาลงไว้ให้ได้อ่านกัน


17 August 2009

โบ ศรวณี กับการแสดงให้บีฟลอร์ใน Begin Again

เชียร์แหลกแสดงจบปิดฉากลงไปแล้ว ตอนนี้พระจันทร์เสี้ยวกำลังเตรียมงานใหม่อีกสองชิ้นเพื่อเข้าร่วมในงานเทศกาล “ศิลปะนานาพันธุ์” ของ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ โปรดติดตามกันต่อไป

สมาชิกของเรา คือ โบ ศรวณี ยอดนุ่น กำลังจะมีการแสดงชิ้นใหม่ ครั้งนี้เธอไปร่วมแสดงกับกลุ่มบีฟลอร์ในเรื่อง Begin Again ละครแนวฟิซิคัลเธียร์เตอร์ที่จะเล่าเรื่องราวของผู้อพยพ และคนที่ต้องการเดินทาง ติดตามไปชมกันได้ ดูรายละเอียดที่นี่




B-Floor Theatre presents
BEGIN AGAIN
















Written and Directed by Nana Dakin
แสดงเป็นภาษาไทย และมีบทบรรยายภาษาอังกฤษ
19-23 และ 26-30 สิงหาคม 2552
เวลา 19.30 น. ยกเว้นวันศุกร์ซึ่งจะเริ่มต้นเวลา 20.00 น.

@ Democrazy Theatre Studio
(เยื้องกับสวนลุมไนท์พลาซ่า สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี -- Lumpini MRT station)
Tickets: 300 Baht
สำรองที่นั่ง โทร / Reservations: 089-167-4039

16 August 2009

วันนี้วันสันติภาพไทย


16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย

กรุงเทพมหานคร สถาบันปรีดี พนมยงค์
โครงการจัดงานครบรอบชาตกาล ๑๑๐ ปี รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์
ขอเชิญร่วมงานรำลึก ๖๔ ปี วันสันติภาพไทย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม ถนนเสรีไทย ซอย ๕๓ กรุงเทพมหานคร
.....................................................................


กำหนดการจัดงาน

เวลา ๘.๐๐ น.
ลงทะเบียน / รับหนังสือที่ระลึก
เวลา ๘.๓๐ น.
รับประทานอาหารว่าง
เวลา ๙.๐๐ น.
พิธีเปิดงานรำลึก ๖๔ ปี วันสันติภาพไทย โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เวลา ๙.๓๐ น.
อุทัย สุจริตกุล บรรยายเรื่องเสรีไทยกับการประกาศ “วันสันติภาพไทย” ยืนไว้อาลัย
เวลา ๑๐.๐๐ น.
พิธีทางศาสนา ๓ ศาสนา (อิสลาม คริสต์ พุทธ)
เวลา ๑๐.๓๐ น.
ประกาศสดุดีเสรีไทย และประชาชนทั่วไปที่สนับสนุน และต่อสู้เพื่อ เอกราชและอธิปไตยของชาติ โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เวลา ๑๐.๔๕ น.
เสวนาเรื่อง “ความเป็นมาและภารกิจของเสรีไทย โดย สมาคมเตรียมธรรมศาสตร์ - จุฬาอาสาศึก ปี ๒๔๘๘ และ ขบวนการเสรีไทย” วิทยากร พล ต.ดร.สวัสดิ์ ศรลัมภ์ สุวรรณ ดาราวงษ์ ร.ต.ปราโมทย์ สูตะบุตร ปิยะ จักกะพาก
เวลา ๑๑.๔๕ น.
รับประทานอาหารกลางวัน

ภาคบ่าย
กิจกรรมเยาวชน เพื่อการเรียนรู้เสรีไทย

15 August 2009

Psychophysical Training

Psychophysical Training


ได้มีโอกาสไปเข้าร่วม Workshop ในโครงการอาศรมความคิด ในหัวข้อ Psychophysical Training การฝึกฝนการแสดงผ่านกระบวนการกาย-จิต จัดโดยสาขาวิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 10, 13, 14 สิงหาคม 2552 โดยทางคณะนิเทศได้เชิญนักการละครผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี Dr.Yoo Jeungsook ซึ่งเป็นอาจารย์จาก Korea National University of Arts ซึ่งเป็นนักแสดงทีที่มีผลงานการแสดงและการสอนในระดับนานาชาติ มาทำการอบรมในครั้งนี้


คุณ Jeungsook เป็นศิษย์เอกของ Phillip Zarrilli ผู้คิดค้นวิธีการหลอมรวมการทำสมาธิมาใช้ในการฝึกฝนนักแสดงโดยการประสานกายและจิต โดยใช้ศิลปะป้องกันตัว การเคลื่อนไหวอย่างมีสมาธิ โยคะ ในการฝึกฝนนักแสดง


การฝึกฝนนักแสดงด้วยกระบวนการกาย-จิตเชื่อว่า ร่างกายและจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นหนึ่งเดียวไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้เมื่อจิตรู้กายก็รู้ เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวจิตก็เคลื่อนไหว ว่าง่ายๆคือให้ความสำคัญกับ BodyMind หรืออย่างที่ครูคำรณของพระจันทร์เสี้ยวการละครบอกว่า "เล่นทั้งตัวทั้งใจ" นั่นเอง


ข้อสังเกตจากการเข้าฝึกปฏิบัติในครั้งนี้ทำให้เปิดมิติในการปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างลมหายใจ สมาธิ การควบคุมศูนย์กลางของร่างกาย หรือ Center ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น และตรงกับความสนใจและกระบวนการฝึกฝนของพระจันทร์เสี้ยวกาละคร ซึ่งวิธีการที่ได้ฝึกในครั้งนี้มีความน่าสนใจมาก บางอย่างมีความคล้ายคลึงแบบที่พระจันทร์เสี้ยวเคยฝึก และหลายๆแบบฝึกหัดก็มีแตกต่างที่ลงลึกในรายละเอียดมากๆและดีมากๆในเรื่องสมาธิ ที่เน้นการเดินทางลึกเข้าไปในตัวเรา มีพลังแต่ผ่อนคลาย และเพิ่มความหมายให้ทุกขณะ


ด้วยผู้นำกระบวนการที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมากอย่างคุณ Jeungsook ทำให้การอบรมเพียงแค่สามวันนั้นมีคุณค่าและได้ความรู้มากมาย การได้เห็นและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกับน้องๆและอาจารย์จากสาขาวิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาตร์ จุฬาฯ และทำให้เราเปิดสมาธิได้มาก เปิดโลก เปิดตัวเอง ได้มากขึ้น


ขอขอบคุณสาขาวิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาตร์ จุฬาฯ ที่ได้จัดการอบรมดีๆอย่างนี้ เพื่อนักศึกษา อาจารย์ และ นักการละคร


ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่

http://paatchula.blogspot.com/


บันทึกโดย สินีนาฏ เกษประไพ
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก ภาควิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาตร์ จุฬาฯ

03 August 2009

Cheer's

เชียร์แหลก

ละครเรื่องใหม่ล่าสุดของพระจันทร์เเส้ยวการละครเรื่องนี้กำกับโดย กวินธร แสงสาคร ดัดแปลงและแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Hart’war(สงครามบัญญัติวีรบุรุษ) ที่พูดถึงความขัดแย่ง การเหยียดผิว การใส่ร้าย จนก่อให้เกิด ผู้ที่ถูกสังเวย เป็นแพะรับบาป

แต่ละครเรื่องเชียร์ ได้ดัดแปลงและนำเสนอเนื้อหาใหม่ให้ดูสนุกดูสบายๆกับเสียดสีนิดๆหน่อยกับเหตุการณ์รอบตัวเรา ในรูปแบบการสืบสวนสอบสวนชวนอมยิ้ม กับคดีพิสดารในห้องแต่งตัวนักกีฬา พร้อมด้วยลีลาการเชียร์ฟุตบอลสุดมันจากเหล่านักแสดงชาย ทั้ง 5 คน และนักแสดงรับเชิญหลายคน(บังคับมาก็มี)ที่มาร่วมสนุกในการเชียร์ฟุตบอลครั้งนี้

แนะนำนักแสดง


เกรียงไกร ฟูเกษม














สายฟ้า ตันธนา








ศักรินทร์ ศรีม่วง











ฉัตรชัย พุดซ้อน






ธเนศ ม่วงทอง






ภูมิฐาน ศรีนาค









และนักแสดงรับเชิญ

พิณทิพย์ สัตย์เพริศพราย
นพพันธ์ บุญใหญ่
ธา Baby mime
งิ่ง Baby mime


มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเชียกับเรา แล้วจะได้รู้ว่า ทุกวันนี้พวกเรา......เชียร์เป็นหรือเปล่า สี....สู้ๆ
สี....สู้ตาย