26 May 2018

Spotlight Thailand

F6 / BICT Fest 2018 




หัวข้อ : ศิลปินเสวนา Spotlight เมืองไทย
ผู้ร่วมเสวนา : กลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว และเบบี้ไมม์ โดย  สินีนาฏ เกษประไพ และ รัชชัย รุจิวิพัฒนา
ดำเนินการเสวนาโดย เศรษฐ์สิริ นิรันดร

วัน : เสาร์ 26 พฤษภาคม 2561
เวลา : 11.00 – 12.30
สถานที่ : ห้อง 501 ชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ

Topic : Spotlight Thailand 
Speaker : Crescent Moon Theatre & Babymime by Sineenadh Keitprapai and Ratchai Rujipattana
Moderated by Setsiri Nirandara 

Date: 26 May 2018 Time: 11.00 – 12.30
Venue: Room 501, 5th floor, Bangkok Art and Culture Centre 


13 May 2018

แนะนำผู้กำกับ วาวา The Rice Child


แนะนำผู้กำกับ วาวา The Rice Child 



สินีนาฏ เกษประไพ 

นักทำละครที่ทำละครมากว่ายี่สิบปี เป็นทั้งผู้กำกับ นักแสดง ทำงานเบื้องหลังอีกหลายย่าง มีผลงานงานละครอย่างต่อเนื่อง มีความสนใจในแนวทางละครที่ใช้ร่างกายและภาพในการเคลื่อนไหว และมีความสนใจสร้างสรรค์โปรเจคทางการละครเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ workshop มาโดยตลอด ปัจจุบันเป็น Artistic Director ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2551 

เริ่มสนใจละครหุ่นและร่วมก่อตั้งคณะละครยายหุ่น (ครูองุ่น มาลิก) ในปี 2544 โดยเป็นคนทำหุ่น  ทำบท พากษ์เสียง และกำกับละครหุ่นเรื่องสั้นๆกว่ายี่สิบเรื่อง ผลงานละครหุ่นเรื่องยาว เช่น ละครหุ่นเสรีไทยเพื่อสันติภาพ, หิ่งห้อย, ละครหุ่นสายสื่อผสม เรื่อง “ติสตูนักปลูกต้นไม้”, ละครหุ่นสายสื่อผสมเรื่อง “วาวา The Rice Child”



11 May 2018

แนะนำทีมเบื้องหลัง วาวา The Rice Child 2018

แนะนำทีมเบื้องหลัง "วาวา The Rice Child"
มีหลายคนหลายมือ 


เศรษฐ์สิริ นิรันดร - นักดนตรีเล่นสด
นักแสดงอิสระ เล่นละคร เขียนบทละคร กำกับละคร สอนละคร เคยกระโดดโลดเต้นเล่นละครเด็กอยู่พักใหญ่ ชื่นชอบคุณค่าของละครสำหรับเด็กเสมอ นี่เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับพระจันทร์เสี้ยวการละครแต่เขาไม่ให้เล่นละครแต่ให้เล่นดนตรี...ตุ๊มตุ๊มต่อมต่อม


ลัดดา คงเดช - เล่นเงา 
เรียนละครและสนใจทำละครและละครหุ่นมาตลอด เริ่มเข้ามาทำงานและเป็นสมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร ตั้งแต่ปี 2553 ในฐานะนักแสดง โปรดิวเซอร์ และ ทีมงานสนับสนุนในโปรเจคต่างๆ ในปี 2555 ได้เข้ามาดูแลโครงการคณะละครยายหุ่น (ครูองุ่น มาลิก) ซึ่งเน้นการแสดงละครหุ่น และ การแสดงสำหรับเด็ก รวมถึงเป็นกระบวนกรในการทำกิจกรรมและการอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ ละครหุ่น ละครสร้างสรรค์ กับเด็กในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพ และ ต่างจังหวัด รวมถึงเป็นวิทยากรการจัดอบรมการทำหุ่น การใช้หุ่น ใช้ละครสร้างสรรค์ สำหรับบุคคลทั่วไป ครูอาจารย์ เพื่อเพิ่มเครื่องมือให้กับครอบครัว และ บุคคลากรทางการศึกษานำไปต่อยอดต่อไป


เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ - วาดทราย
เป็นสมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร(2010) และฟอร์ว้อทเธียเตอร์(2015) เบญจ์ทำงานหลายอย่างในละครเวทีเป็นทั้งนักแสดง ผู้เขียนบท ดีไซน์เนอร์ โปรดิวเซอร์ และผู้กำกับการแสดง ปัจจุบันเป็นครูกระบวนกร สอนวิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสียง ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยยังมีความตั้งใจที่จะสร้างผลงานละครเวทีในฐานะศิลปินอย่างต่อเนื่อง ในละครหุ่นเรื่อง วาวา The Rice Child 2018 เบญจ์รับหน้าที่สร้างสรรค์ภาพวาดจากเม็ดทราย


09 May 2018

ทีมนักแสดงนักเชิดหุ่น "วาวา The Rice Child"

กว่าจะมีชีวิต มารวมทีมวาวา 
ใครรับทใครกันบ้าง ใน วาวา The Rice Child 2018 



รัตนวดี สุขภัฎ (นิว) / รับบท วาวา 
เรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ (SoA+D, มจธ.) ปัจจุบันวาดภาพประกอบอิสระ ทำ motion graphic และ animation ออกแบบภาพเคลื่อนไหว นอกจากงานศิลปะแบบอื่นๆ แล้วยังมีความสนใจเรื่องการเชิดหุ่นและการทำหุ่นเป็นพิเศษด้วยค่ะ เป็นอาสาสมัครคณะละครยายหุ่นตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


จีรณัทย์ เจียรกุล (ไผ่) / รับบท ข้าว 
ช่างภาพอิสระผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่าย เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละครตั้งแต่ปี 2553 ในฐานะนักแสดง คือผู้อภิวัฒน์, Wawa The Rice Child, BB Project I : Aquarium และเป็นทีมงานเทคนิคแสง เสียง สื่อภาพถ่ายและวีดีโอ


ชนาง อำภารักษ์ (นาง) / รับบท ชมพู่ 
หลังจบจากสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็สนใจและทำงานด้านเด็กต่อเนื่องมาโดยตลอด เข้าเป็นอาสาสมัครคณะละครยายหุ่น ครูองุ่นมาลิก เมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำมาเล่นหุ่นสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่โดยใช้กระบวนการจากละครหุ่นด้วย


เชษฐพัทธ์ เขื่อนแก้ว (ไบรท์) / รับบท เจ้าแกละ 
จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน และปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ปัจจุบันทำงานอิสระ สนใจทางด้านละครเวที การแสดง และการออกแบบเพื่อละครเวที


อาริยา เทพรังสิมันต์กุล (เอื้อง) / รับบท เจ้าส้ม 
จบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจทางด้านละครสำหรับเด็กและศิลปะการเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ เคยร่วมงานในโปรเจคละครหุ่นหลากหลายรูปแบบ ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ปัจจุบันได้ตั้งกลุ่ม Yellow Fox Theatre เพื่อทำงานสร้างสรรค์และจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก


08 May 2018

ที่มาของ “วาวา The Rice Child”

ที่มาของ “วาวา The Rice Child”


ละครหุ่นสื่อผสม “วาวา The Rice Child” เกิดจากความสนใจในประเด็นเด็กแรงงานข้ามชาติ และเกิดจากการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนใน Mekong Creative Communities Arts for Advocacy Fellowship 2010 ที่ PETA (Philippine Educational Theatre Association) ในปี 2553 ประเทศฟิลิปส์ โดย มีเพื่อนศิลปินที่เข้าร่วมจาก พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ ไทย ที่สนใจทำงานละครประเด็นโดยใช้ศิลปะการแสดงในรูปแบบต่างๆ มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนในประเด็นและทักษะการแสดง ทำ workshop ร่วมกัน จนแต่ละคนได้สร้างสรรค์เรื่องราวและเริ่มพัฒนาโปรเจคไปสู่การแสดง


โดยผู้กำกับของเรา สินีนาฏ เกษประไพ ได้ทำ Research ผ่านหนังสือ ข่าว และ รายงานต่างๆ รวมทั้งการลงพื้นที่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยความร่วมมือของ LPN ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เราได้เรียนรู้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติและประเด็นเชิงลึกผ่านการพูดคุยกับคุณสมพงค์ สระแก้ว และชาว LPN ได้เห็นพื้นที่จริง ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนที่เปิดรับน้องๆเด็กๆลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาและที่เกิดและโตในเมืองไทยให้ได้เข้าเรียนและได้มีโอกาสมากขึ้นในการศึกษา

จากจุดเริ่มต้นนี้เราได้ย่อยประเด็นและพัฒนาให้เป็นการเล่าเรื่องอย่างง่าย เพื่อให้ผู้ชมเด็กๆกับครอบครัวได้นั่งดูละครไปด้วยกัน โดยจะได้เห็นเรื่องราวของเด็กๆแรงงานข้ามชาติผ่านเรื่องราวของ วาวา และได้เห็นหุ่นสายที่โลดแล่นมีชีวิตชีวาผสมผสานกับภาพจากการวาดทราย หุ่นกระดาษ การเล่นเงา และบทเพลงซึ่งแต่งโดย พรชนก กาญจนพังคะ


ครั้งแรกเราเปิดการแสดงในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ทั้งหมด 10 รอบ โดยแสดงในที่ต่างๆและมีผู้ชมที่หลากหลายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 
-แสดงในการประชุมระดับนานาชาติ The 3rd Mekong Youth Forum on Human Trafficking and Migration 2010 จัดที่กรุงเทพ (แสดง 2 รอบ)
-แสดงที่ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space (4 รอบ)
-แสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ ที่ สวนสันติชัยปราการ ป้อมพระสุเมรุ ถ.พระอาทิตย์ (2 รอบ)
-แสดงที่โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จ.สมุทรสาคร (1 รอบ)
-แสดงในงาน พื้นที่นี้ดีจัง ที่ แพร่งภูธร (1 รอบ)
ในการแสดงครั้งแรกทั้งสิบรอบนี้ มีผู้ชม “วาวา The Rice Child” ประมาณสองพันคน


หลังจากครั้งนั้น วาวาและเพื่อนๆ หายไปนาน กลับมาแสดงอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงในเทศกาลละคร Festival of Windows ที่ PETA ประเทศฟิลิปส์ เราแสดงรอบเดียว ในโรงละครใหญ่ที่จุผุ้ชมประมาณ 400 คน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นมาก และอีกหนึ่งรอบที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว มีผู้ชมประมาณ 200 คน 


กลับมาครั้งนี้ วาวา และเพื่อน จะได้ร่วมแสดงในเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ BICT Fest 2018 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะแสดงเพียงแค่ 5 รอบเท่านั้น วันที่ 18-20 พ.ค. หลังจากนี้วาวากับเพื่อนๆคงจะพักไปอีกนาน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้มีโอกาสกลับมาเล่นอีก