เขียนโดย ภาสกร อินทุมาร
จากนิตยสาร Fine Arts Magazine ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2553
กรกฎาคม 2530 ผมมีโอกาสดูละครเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์” ที่ “หอเล็ก” (ชื่อจริงในสมัยนั้นคือ หอศิลปวัฒนธรรม ชื่อจริงในปัจจุบันคือ หอประชุมศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดคือสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โดยมี คำรณ คุณะดิลก เป็นผู้เขียนบทและกำกับการแสดง ในครั้งนั้น ผมยังไม่มีความรู้ใดๆเกี่ยวกับการละคร และยังไม่เคยดูละครเวที การได้ดูละครเรื่องนี้สร้างความแปลกใจให้กับผมอยู่พอสมควร เพราะดูจะเป็นละครที่ประหลาด ประหลาดเพราะว่า แรกทีเดียวนั้นผมเข้าใจว่าละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของ “อาจารย์ปรีดี พนมยงค์” ผู้อภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ. 2475 แต่เหตุใดเรื่องราวชีวิตของอาจารย์ปรีดีผู้ซึ่งมีตัวตนจริง จึงมี “แม่พลอย” ตัวละครเอกจากวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ผมเคยอ่าน เข้ามาปรากฏ และยังมี “สาย สีมา” ตัวละครที่ผมประทับใจ

นี่คือละครประเภทใดกัน ผมสงสัย พอได้ไปอ่านบทวิจารณ์ละครเรื่องนี้ที่ ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ เขียนไว้ในนิตยสาร “ถนนหนังสือ” ฉบับเดือนสิงหาคม 2530 ก็ได้ความว่าละครแบบนี้เรียกว่าละคร “เอพิค” (Epic Theatre) ซึ่งเป็นรูปแบบละครที่สร้างขึ้นโดย แบร์ทอล์ท เบรคชท์ (Bertolt Brecht) นักการละครชาวเ

จริงดังอาจารย์เจตนาว่า เพราะทั้งแม่พลอยและสาย สีมา ได้ทำให้ผมทั้งหยุดคิดและฉุกคิด ว่าในขณะที่ผู้คนในยุคสมัยของเราต่างเชื่อว่าประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่ในปี 2475 นั้น ผู้ทำการอภิวัฒน์การปกครองกลับเป็นเสมือนดั่งปีศาจที่คนในอำนาจเก่าเกลียดชังและไม่ยอมรับ และหากละครเรื่องนี้ไม่ใช้ “การทำให้แปลก” เช่นนี้ แต่เล่าเรื่องราวชีวิตของอาจารย์ปรีดีไปเรื่อยๆจากต้นจนจบ วัยรุ่นอายุ 18 อย่างผมคงจะไม่ได้หยุดคิดและฉุกคิดเป็นแน่ คงได้แต่เพียงรับรู้เรื่องราวชีวิตของอาจารย์ปรีดีที่อ่านจากหนังสือก็คงจะไม่ต่างกันนัก

กรกฎาคม 2553 ผมมีโอกาสดูละครเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์” อีกครั้ง ครั้งนี้จัดแสดงที่ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวาระครบรอบ 110 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ละครคราวนี้ยังคงบทละครเดิม แต่กำกับการแสดงโดย สินีนาฏ เกษประไพ แห่ง “พระจันทร์เสี้ยวการละคร” ผู้ได้รับรางวัล “ศิลปาธร” สาขาศิลปะการแสดง ปี 2551 การดูละครในครั้งนี้ต่างจากเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในครั้งนี้ผมได้ผ่านการทำความรู้จักกับเบรคชท์มามากขึ้น ผมได้รู้ว่าเบรคชท์ไม่เห็นด้วยกับละครตามหลัก “กวีศาสตร์” (The Poetics) ของอริสโตเติล ที่กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสารและกลัว (pity and fear) และปลดเปลื้องความรู้สึกเมื่อละครจบลง (catharsis) รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับละครสมัยใหม่ในแบบ “สัจนิยม” (Realism) ที่ผู้ชมเป็นดั่งผู้เฝ้ามองเรื่องราวชีวิตของผู้อื่น และเดินออกจากโรงละครไปโดยไม่ต้องมีเรื่องค้างคาใจให้คิดต่อ ซึ่งเบรคชท์เห็นว่าละครเช่นนี้ทำลายพลังทางสติปัญญาของผู้ชม เบรคชท์ต้องการให้ละครเป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้ชมคิด และ “การทำให้แปลก” ทั้งการไม่ซ่อนดวงไฟที่ใช้ส่องเวที การพูดกับคนดู ซึ่งในบางกรณีให้คนดูช่วยคิดหาตอนจบให้กับละครด้วย การใช้ผู้เล่าเรื่อง (narrator) ฯลฯ ก็คือเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ชมไม่เกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวที่นำเสนอ หรือบางครั้งที่ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราว เบรคชท์ก็จะตัดอารมณ์ด้วยการให้นักแสดงหันมาพูดกับคนดูบ้าง หรือใช้วิธีอื่นๆบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ชมคิด บางทีก็กระตุ้นให้ผู้ชมคิดคัดง้างกับละครอีกด้วย
บทวิจารณ์ละครเรื่องนี้ที่อาจารย์เจตนาเขียนในปี 2530 มีชื่อว่า “คือผู้อภิวัฒน์... ทางอันแจ่มใสของละครเวทีไทย” การที่อาจารย์ตั้งชื่อบทความเช่นนี้ก็เพราะในช่วงเวลานั้นสถานการณ์ละครเวทีไทยดูจะน่าเป็นห่วง เพราะละครส่วนใหญ่กำลังเดินตามฝรั่งในลักษณะลอกเลียนแบบ แต่สำหรับ “คือผู้อภิวัฒน์” นั้น อาจารย์เจตนากล่าวถึงว่า “ถ้าเบรคชท์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะภาคภูมิใจเป็นอันมากว่า เขามีเพื่อนในประเทศโพ้นทะเลที่นำสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของเขาไปคิดต่อและไปประยุกต์ใช้ได้อย่างดี อาจจะดีกว่าที่เขาลงมือทำเอง หรือที่สานุศิษย์ของเขาในเยอรมันเองได้ทำมาแล้วเสียอีก...” และนี่กระมังที่อาจารย์บอกว่าเป็นทางอันแจ่มใสของละครเวทีไทย สำหรับผมที่ได้ดูละครเรื่องนี้ในปีนั้น ผมไม่รู้หรอกว่าละครเวทีไทยกำลังมืดมนอยู่หรือไม่ ผมรู้แต่เพียงว่าละครเรื่องนี้ทำให้ผมซึ่งเป็นคนดูแจ่มใส เป็นความแจ่มใสที่เกิดจากการหยุดคิดและฉุกคิดกับสิ่งที่ละครพูดกับผม
การดูละครเรื่องนี้อีกครั้งไม่ได้ทำให้ผมหยุดคิดหรือฉุกคิดในเรื่องเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ในครั้งนี้ก็คือ ไม่ว่าละครเวทีไทยจะแจ่มใส หรือหม่นหมอง แต่สังคมไทยที่ซับซ้อนและย้อนแย้งอย่างที่เป็นอยู่ในปี 2553 นี้ เราต้องการละครที่ทำให้คนคิด มากกว่าละครที่ทำให้คนดูเชื่อตาม
No comments:
Post a Comment