06 August 2011

I Sea - review from Madam Figaro

I Sea : เวลา-ผู้หญิง-การมอง-ทะเล
โดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา







ใครนะ? ที่เปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงว่าเหมือนทะเล...บางครั้งก็สงบงดงาม แต่บางครั้งก็เกรี้ยวกราด ไม่น่าเข้าใกล้...นั่นอาจเป็นมุมมองที่คนพูดซึ่งอาจเป็นผู้ชายมองพวกเธอเชื่อมโยงกับทะเล...ว่าแต่ แล้วเวลาผู้หญิงมองตัวเองกับทะเล..พวกเธอคิดยังไงกันบ้างนะ...



ผู้หญิงเก่งสองคนของพระจันทร์เสี้ยวการละคร...เธอชวนเราไปดูว่าเวลาที่เธอทั้งสองมองทะเล..พวกเธอคิดอะไรอยู่ ผ่านรูปแบบการแสดงเดี่ยวคนละเรื่องของพวกเธอ แต่ใช้ชื่อรวมเป็นคำนามสองคำว่า I Sea

ตอนที่ผมไปถึงโรงละครขนาดเล็ก black box ที่ชื่อว่า Crescent Moon Space แถว ๆ ทองหล่อ ก่อนเวลาการแสดงจะเริ่ม ปรากฏว่า มีผู้ชมไปรอชมการแสดงของสองสาวกันในจำนวนที่แทบนึกไม่ออกว่า แล้วผู้ชมจะเข้าไปอัดรวมกันในห้องเล็ก ๆ ห้องนั้นได้อย่างไร..แต่ในที่สุด เราก็ทำได้สำเร็จ




งานแบ่งออกเป็นสองชิ้น ชิ้นแรกเป็นงานของ ฟาริดา จิราพันธุ์ ใช้ชื่อว่า FLOTsam เล่าเรื่องราวของความสดใสในการเดินทางของชีวิต ที่คึกคัก สนุกสุดหวี่ยง จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็ตกเรือจมน้ำเพราะเรือแตก แล้วหลังจากนั้นการแสดงก็พาเราดำดิ่งไปกับภาวะของผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ที่ชีวิตเหมือนเรือแตกกลางทะเล เธอต้องกลับมาสำรวจร่างกายของตนเอง ต้องตะเกียกตะกาย ต้องประคองตัวไปเรื่อย ๆ เพื่อที่พบว่า ท้ายที่สุดสิ่งที่ทำได้คือการเกาะซากเรือของชีวิตนั้นอย่างสงบนิ่ง และใช้การรำลึกถึงวัยเยาว์ของตนเอง ประทังชีวิตให้พอหายใจต่อไปได้

ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องย่อ ที่ผมคิดเอง...เพราะการแสดงเดี่ยวในครั้งนี้ ไม่มีบทพูด และไม่ได้เล่าเรื่องแบบละครปกติ แต่เป็นการสื่อสารผ่านการแสดงที่เรียกว่า Physical Theatre ซึ่งนักแสดงมักสื่อสารผ่านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ก่ำกึ่งระหว่างการเต้นกับการแสดงละคร การแสดงชิ้นนี้ของฟาริดานั้น โชว์ทักษะทางร่างกายของนักแสดงได้อย่างน่าสนใจ ผู้ชมจะไม่ได้รับอนุญาตให้รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น เพราะเธอเข้ามาก็แสดงเลย ส่วน “เรื่อง” และ “อารมณ์” ที่ได้ เป็นเรื่องของคนดูแต่ละคน จะใส่จินตนาการของตนเองลงไปกับสิ่งที่ได้ (อย่างที่ผมสร้างเรื่องเองข้างต้น)

ความน้อยของอุปกรณ์ประกอบ เสียง และ ภาพ ที่ฟารีดานำมาใช้ มันทำให้ผู้ชมเน้นไปที่ตัวนักแสดงเป็นลำดับแรก ส่วนประกอบอื่น ๆ เมื่อเข้ามาเมื่อศิลปินต้องการให้เกิดความหมายอะไรบางอย่างในเรื่องเท่านั้น (เช่น ภาพวัยเยาว์ของเด็กหญิงฟารีดา ที่สวมชุดเดียวกับ ฟารีดาในวัยสาว ซึ่งนอนนิ่งเกาะซากเรือที่อัปปางอยู่นั้น เจ็บปวดและชวนให้เข้าไปปลอบโยน)



หากให้ผมมองในฐานะ show ผมคิดว่างานชิ้นนี้ของเธอ “ซื่อ” ดี แต่ก็อด “อยากได้เพิ่ม” ในเรื่องชั้นเชิงในการเล่าเรื่องมากกว่านี้ บางทีหากปรับหรือเพิ่มกลวิธีในการเล่าเรื่องมากกว่านี้อีกนิด FLOTsam อาจพาผู้ชมให้รู้สึกเคว้งคว้างไปกับเธอ มากกว่าการปล่อยให้ผู้ชมเป็นแค่คนบนฝั่งที่เฝ้ามองชะตากรรมของผู้หญิงคนนี้แต่ฝ่ายเดียว




งานชิ้นที่สองเป็นผลงานของ สินีนาฏ เกษประไพ ผู้นำของพระจันทร์เสี้ยวการละคร รุ่นที่ 3 และศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดงหญิงคนแรกและคนเดียว เธอตั้งชื่องานของเธอว่า ChANge (สังเกตตัวอักษรตัวใหญ่ที่รวมกันได้ว่า CAN)



งานของเธอเริ่มต้นด้วย ชายหนุ่มนักแซกโซโฟนในชุดเจ้าบ่าว ที่ออกมาเป่ามนต์เรียก เจ้าสาว (สินีนาฎ )ออกมา ในช่วงแรก เราจะได้เห็นว่าการเป่าแซกโซโฟนของเจ้าบ่าวนั้น เป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวของเจ้าสาว จนต่อมาเธอทนต่อไปไม่ไหว จึงสลัดกระโปรงของเจ้าสาวนั้นทิ้งไป เพื่อเปลี่ยนไปเป็นตัวของตัวเอง ในช่วงนี้ การแสดงจะขยายภาวะของผู้หญิงที่เลือกเส้นทางของตนเอง โดยขบถจากเรื่องเล่า “ชาย-หญิง” ที่สังคมให้ค่าว่าปกติ ในลักษณะอุปมากับการลอยคว้างกลางทะเล ซึ่งบางครั้งก็ลอยพลิ้วแบบแมงกะพรุน บางครั้งก็ปล่อยตัวไปกับคลื่นที่สาดซัด โดดเดี่ยว จนกระทั่งสามารถเดินทางมาถึงฝั่งในที่สุด (เรื่องจบลงที่ภาพถนนที่ทอดตัวไปข้างหน้าอย่างที่ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน)



มีคนกล่าวว่า สำหรับนักเต้นผู้หญิงแล้ว จะเต้นให้มีประสิทธิภาพได้ อายุน่าจะอยู่ในช่วง 20 ไม่เกิน 30 แต่สำหรับการแสดงของสินีนาฏ ในครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่า คำกล่าวที่ว่าไม่จริงเสมอไปสำหรับนักเต้นสาวใหญ่ หากนักเต้นหญิงคนนั้นดูแลและฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ การเต้น ผสม Butoh ผสม การแสดงแบบ physical Theatre ของสินีนาฎ ในครั้งนี้ ในสายตาผมแล้ว เธอยังให้พลังในการสื่อสารผ่านทางร่างกายได้มาตรฐานทีเดียว มีข่าวลือมาว่า นี่อาจเป็นโซโล่ชิ้นสุดท้ายที่สินีนาฏจะทำ ผมขอภาวนาให้มันเป็นเพียงข่าวลือต่อไป



อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว งานชิ้นนี้กลับเด่นในด้านการกำกับการแสดงมากกว่าการแสดงของเธอ ด้วยเพราะองค์ประกอบด้านเพลง ภาพทั้งวิดีโอ และ โมชั่น กราฟฟิค และแสง ที่สินีนาฏ เลือกมาใช้ในงานของเธอนั้น มันทำหน้าที่ “ส่งความหมาย” อย่างโดดเด่นจนกลบการแสดงของเธอไปบ้าง ผมยังรู้สึกเสียดายว่าในบางโมเมนท์มีแค่การแสดงของเธอก็น่าจะเพียงพอ และอาจพาให้เรา ‘รู้สึก’ ไปกับภาวะของผู้หญิงคนนั้นได้มากกว่านี้ (เป็นเทรนด์ของการแสดงร่วมสมัยของไทยในยุคหลังที่นิยมการสื่อสารด้วยสื่อที่หลากหลาย และพยายามทำลายกรอบการนิยามว่าตนเองเป็นศิลปะประเภทใด เห็นงานแบบนี้บ่อย ๆ ชักคิดถึงงานง่าย ๆ กว่านี้สะแล้ว)



หลังจากดูเรื่องเล่าของพวกเธอกับทะเลจบลง..สิ่งที่ผมทำคือโทรศัพท์ไปหาผู้หญิงที่อยู่รอบ ๆ ตัวแล้วถามเธอว่า ‘สบายดีไหม’



ภาพโดย : อดิเดช ชัยวัฒนกุล

No comments: