20 September 2009

พระจันทร์เสี้ยวกับอ่านบทละคร

อ่านบทละคร
โดย สินีนาฏ เกษประไพ

ตอนนี้พระจันทร์เสี้ยวการละครกำลังเตรียมโครงการอ่านบทละครในธีมเรื่องสันติภาพ มีชื่อโครงการในครั้งนี้ว่าโครงการอ่านบทละคร “อ่านสันติภาพ” ที่จะเข้าร่วมแสดงในงานเทศกาลศิลปะนานาพันธ์ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ตอนนี้อยู่ในขั้นประสานงานและเตรียมการ แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเรามีนักการละครมาร่วมในโครงการทั้งหมด 13 คน จะมีชิ้นงานแสดงอ่านบทละครทั้งหมด 12 ชิ้น เราจะจัดแสดงในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 24-25 ตุลาคม รอบเวลา 13.00 และ 15.30 น. โดยในรอบหนึ่งจะจัดแสดง 6 ชิ้น ดังนั้นถ้าจะดูให้ครบทั้ง 12 ชิ้น ก็ต้องอยู่ดูในรอบถัดไป หรือกลับมาในวันรุ่งขึ้น

จากครั้งที่แล้ว “อ่านเรื่องรัก” ที่เราจัดในเดือนกุมภาพันธ์ เรามีมีชิ้นการแสดงทั้งหมด 10 ชิ้น จากนักการละคร 10 คน มีผู้ชมล้น และเรามีผู้ชมน้องๆนักศึกษามาดูกันเยอะ ในช่วงแลกเปลี่ยนพูดคุย เราได้เสียงสะท้อนมาว่า การอ่านบทละครนี้น่าสนใจ หลายๆคน ไม่ดิดว่าการอ่านบทละครจะน่าสนใจเท่านี้ หรือบางคนก็ไม่เคยเห็นเลยด้วยซ้ำ

‘การอ่านบทละคร’ เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับนักละคร ก่อนจะเกิดการซ้อม ผู้กำกับ นักแสดง และทีมงาน จะต้องมาเจอกันเพื่อทำความเข้าใจบท โดยการอ่านบทละคร คืออ่านออกเสียงดัง มีการตีความตามบทบาท นอกจานี้การ ‘อ่านบทละคร’ ก็ยังเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนานักเขียนหรือนักเขียนบท เมื่อนักเขียนบทเขียนบทออกมาเสร็จแล้ว อาจจะจัดให้มีการอ่านบทต่อผู้ชม เพื่อให้รับฟังความคิดเห็นต่อบท เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงบทก็ได้

‘การอ่านบทละคร’ ต่อหน้าผู้ชมก็ยังเป็นการแสดงอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นอีกทักษะหนึ่งที่ช่วยพัฒนานักแสดง ทางพระจันทร์เสี้ยวการละครก็ใช้การอ่านบทละครเป็นแบบฝึกหัดพื้นฐานให้นักแสดง รวมทั้งจัดการแสดง ‘อ่านบทละคร’ ทั้งจากวรรณกรรม และบทละคร มาหลายครั้ง เช่น อ่านบทละครยุคแสวงหา, อ่านวรรณกรรม 100 เรื่อง ที่คนไทยควรอ่าน, อ่านบทละคร(ตามวาระโอกาสต่างๆ), อ่านเรื่องสั้น “ผมไม่มีน้ำตาจะร้องไห้อีกแล้ว” บทประพันธ์ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

จากการอ่านบทละคร “อ่านเรื่องรัก” ครั้งที่แล้ว ที่เราจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เราได้รับเกียรติจากครูถิ รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มาชมงานและแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเรา รวมทั้งให้มุมองในเรื่องการอ่านบทละคร หลังจากนั้นครูถิยังได้มอบหนังสือ “ละครสร้างนักอ่าน” มาให้เรา ซึ่งในนั้นได้ให้ความรู้เรื่องการอ่านบทละครไว้น่าสนใจมาก และเรียกการอ่านบทละครว่า Readers Theatre เราเลยตัดตอนส่วนหนึ่งมาให้อ่านกัน ณ ที่นี้

Readers Theatre ต่างจากละครอย่างไร

รีดเดอร์ เธียเตอร์ (Readers Theatre) มีจุดมุ่งหมายต่างจากละครโดยทั่วไป ขณะที่ละคร (Theatre) มีเป้าหมายเพื่อให้ความบันเทิงและสาระกับผู้ชมโดยการจำลองภาพ “โลกสมมุติ” ให้เกิดความเชื่อถือมากที่สุด แต่รีดเดอร์ส เธียเตอร์ สามารถให้ทั้งความบันเทิงและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้เกิดความเข้าใจในวรรณกรรมได้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการอ่านเพียงอย่างเดียว

ความแตกต่างระหว่างการแสดง “ละคร” กับการแสดง “รีดเดอร์ส เธียเตอร์”
ละคร
1.เน้นที่การแสดง
2.นักแสดงจะมีจุดมองหลักๆอยู่บนเวที คือ มองหน้ากันระหว่างนักแสดง (on-stage focus)
3.นักแสดงจะต้องจำบท และต้องไม่ถือบทขณะแสดง
4.นักแสดงจะต้องแต่งหน้าและแต่งตัวเพื่อแสดงบุคคลิกลักษณะของตัวละคร
5.คนดูกับนักแสดงจะแยกออกจากัน และมักจะมีพื้นที่หรือเวทีให้รู้ว่าเป็นการแสดง
6.นักแสดงจะใช้การเคลื่อนไหวมาก และเคลื่อนไหวไปบนพื้นที่เวที และใช้อุปกรณ์ประกอบฉากเป็นประโยชน์ในการแสดง

รีดเดอร์เธียเตอร์
1.เน้นที่เนื้อหาวรรณกรรม
2.นักแสดงจะสร้างจินตนาการให้กับคนดูเกี่ยวกับตัวละครที่ปรากฏในบทโดยมองไปนอกเวที ซึ่งมักจะมองไปที่ด้านหลังกลุ่มคนดู (off-stage focus) และมีผู้บรรยายร่วมแสดงด้วย
3.นักแสดงต้องมีบท (ถือ/วาง) ให้เห็นบนเวที ไม่จำเป็นต้องจำเพราะใช้การอ่าน แต่ต้องซ้อม
4.นักแสดงไม่จำเป็นต้องแต่งตัว แต่ใช้ความสามารถในการสร้างจินตนาการให้ผู้ฟังเห็นภาพ
5.คนดูจะใกล้ชิดกับนักแสดง และใช้พื้นที่ใดเป็นเวทีก็ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์/ฉาก
6.นักแสดงไม่เคลื่อนที่มากนัก แต่ใช้น้ำเสียง สายตา และท่าทางเพียงเล็กน้อยประกอบ

อ่านเพิ่มเติมได้จาก :
หนังสือ “ละครสร้างนักอ่าน” โครงการวิจัยปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมนักสื่อสารการอ่าน (ปสอ.) สาขาสื่อสารการแสดง ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


No comments: