26 June 2010

"คือผู้อภิวัฒน์" วาระแรก

ละครเวที “คือผู้อภิวัฒน์” (ในวาระแรก)

เมื่อปี พ.ศ.2530 ละครเวที “คือผู้อภิวัฒน์” ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน และเปิดแสดงจริงในวันที่ 3, 4, 5 และ 10, 11, 12 กรกฎาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้จัดขึ้น โดยมิใช่มีเพียงวัตถุประสงค์และเหตุผลที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเท่านั้น หากจุดประสงค์ที่แท้จริงของการจัดละครในครั้งนั้น ต้องการที่จะนำเสนออุดมการณ์ของท่านที่มีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น ในวิถีต่างๆ โดยหวังที่จะสื่อผ่านรูปแบบการละครเพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าอุดมการณ์เหล่านี้จะได้รับการตอบขานเช่นไรจากสังคมและชนรุ่นใหม่ของสังคมไทย และวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งในการจัดทำละครคือการหารายได้เพื่อร่วมสมทบทุนในการก่อสร้าง “สถาบันปรีดี พนมยงค์”


ละครเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดไว้แต่แรกแล้วว่าให้เป็น ละครเอพิค (Epic Theatre) และเป็นชีวประวัติของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ด้วยเหตุผลที่ว่า Epic Theatre เป็นละครที่ไม่เน้นอารมณ์ แต่มุ่งให้เกิดความหมายทางด้านความคิดและสติปัญญาในขณะรับชม ละครในรูปแบบนี้เป็นผลผลิตทางความคิดของ “แบร์ทอลท์ เบรคชท์” (Bertolt Brecht) นักการละครชาวเยอรมัน ซึ่งบทละครที่มีชื่อเสียงของเขาไดรับการนำมาทำเป็นละครเวทีโดยนักการละครชาวไทยแล้วหลายเรื่อง อาทิ กาลิเลโอ คนดีที่เสฉวน และ แม่ค้าสงคราม



คำรณ คุณะดิลก เคยกล่าวถึง การเลือกใช้ศิลปะกับละครเรื่องนี้ว่า “...ละครก็เป็น อิลลูชั่น (Illusion) หรือ ภาพหลอนชั้นหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ระวังก็จะสร้างภาพหลอน ๒ ชั้นให้คนดูปวดหัวได้ อันนี้ผมเอามาจากหลักของ อังตวน อาร์โตด์ (Antoin Artaud) อาร์โตด์ เป็นนักกละครรุ่นใหม่ของฝรั่งเศส่ แล้วที่เลือกชีวะประวัติท่านปรีดีก็เพราะอยากจะทดลองงานสัก ๓ อย่าง คือ การทำละครชีวประวัติมันยาก ยากเรื่องข้อมู้ลและความถูกต้อง แล้วข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีเอง รวมทั้งข้อเขียนของคนอื่นๆ เกี่ยวกับท่าน ก็มักจะเป็นวิชาการมากๆ ผมไม่กล้าใส่ไข่นัก แต่ก็จะสร้างให้ Dramatic ตึงเครียดเพื่อดึงคนดูด ใช้แทนความสนุกสนานแบบธรรมดาๆ...

...อีกอย่าง ก็อยากจะฝึกนักแสดงละครรุ่นใหม่เอาเป็นกลุ่มทเลย คัดเฉพาะนักศึกษาปี ๒ หมด ไม่เคยแสดงมาก่อน ชาย ๖ หญิง ๖ ดูซิว่า เขาจะมีพลังไหมบนเวที ฝึกมาหลายอาทิตย์ทำท่าว่าสักครึ่งมีแววเป็นนักแสดงได้

แล้วประเด็นสุดท้ายที่เลือกรูปแบบละครนี้ เอาชีวิตอาจารย์ปรีดีมาทำก็เพราะเห็นว่าท่านสมถะ เรียบง่าย แต่พุ่งเข้าชนปัญหา รูปแบบละครของเราก็จะสมถะ มีแสง มีเสียง แต่ไม่มีฉาก เพลงประกอบเป็นเพลงธรรมศาสตร์บ้าง เพลงชาติผรั่งเศสบ้าง เพลงคนทำทาง เพลงต้นกล้า และเพลงแองแตร์นาซิอองนาล...”

บทละครเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆกับการค้นหาการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และนามธรรม โดยการจัดองค์ประกอบการเคลื่อนไหว การยืนที่มีความหมายบนแท่นลาดเอียงสีดำ 3 แท่น ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามจุดต่างๆ ของเวที เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวประวัติของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ตลอดอายุขัย รูปแบบของละครไม่เน้นฉากอุปกรณ์ที่ใหญ่โตอลังการ เสื้อผ้านักแสดงยืนพื้นที่ชุดผ้าดำ เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวก โดยใช้แนวทางของ Poor Theatre อันเป็นวิธีคิดที่ได้มาจากการทำ Theatre Lab ของ เจอร์ซี่ โกรโทสกี้ ที่มีปรัชญาความคิดหลักที่ว่า หัวใจของการแสดงอยู่ที่ร่างกาย มิใช่องค์ประกอบภายนอกที่ไม่จำเป็น

การเลือกรูปแบบนี้มารองรับเพราะเรื่องราวของอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ มีหัวใจหลักของเรื่องอยู่ที่แก่นความคิด การนำเสนอภาพองค์ประกอบภายนอกที่ใหญ่โตหรูหราเกินความจำเป็นจะทำให้พลังของสารสาระไม่ถูกขับออกมา

ละครเรื่องนี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างครอบคลุม เข้มข้น อาทิ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, ขบวนการเสรีไทย ฯลฯ ซึ่งถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์บนละครเวที


ในขั้นต้นนั้นทางสภานักศึกษาได้ประกาศรับสมัครนักแสดงละครเวทีใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการตามความตั้งใจของครูคำรณ ที่ต้องการจะสร้างนักแสดงรุ่นใหม่ขึ้นเฉพาะสำหรับโครงการ และมีนักศึกษาเข้าร่วมสมัครทั้งสิ้นร่วม 100 คน เข้าร่วมการฝึกฝนโดยเริ่มต้น Warm up ร่างกายในลักษณะการฝึกการหายใจ การปรับการเคลื่อนไหว การฝึกทางด้านของพลัง Force & Dynamic เป็นเบื้องต้น การฝึกฝนในรูปแบบดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการแสดงที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น


กลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วม Work shop จำนวนเกือบ 100 คนลดจำนวนลงเหลือเพียง 15 คน ด้วยการฝึกทางร่างกายที่ค่อนข้างหนักและใช้เวลานานถึง 1 ปี ในที่สุดก็สมารถคัดเลือกนักแสดงหลัก ประกอบด้วยชาย 6 คน หญิง 6 คน ภายใต้การใช้ชื่อกลุ่มทางการแสดงว่า “นักแสดงไร้ชื่อ”


หลังจากที่ละคร คือผู้อภิวัฒน์ ออกแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสร็จสิ้นลง ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี และก่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ ในเชิงรูปแบบที่โดดเด่นและเนื้อหาที่เฉียบคม โดยเฉพาะฉากที่ผู้ชมประทับใจเป็นพิเศษคือ “ฉากรีรีข้าวสาร” อันเป็นการละเล่นของไทยที่ถูกนำมาเทียบเคียงกับการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของการขึ้นครองอำนาจได้อย่างน่าสนใจจนได้รับคำเรียกร้องให้กลับมาจัดแสดงใหม่เป็นครั้งที่ 2 ณ หอศิลป์ พีระศรี โดยเปิดการแสดงในวันที่ 30-31 ตุลาคม และวันที่ 6-7-8 พฤศจิกายน หลังจากนั้นจึงเดินทางขึ้นไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเปิดการแสดง ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 4 รอบ และเปิดการแสดงที่จังหวัดปัตตานีอีก 2 รอบ การจัดการแสดงในครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อคณะละครเป็น “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว(ใหม่)”

กำหนดการ :
๒๗ มิถุนายน และ ๓,๔,๕,๑๐,๑๑,๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐
หอศิลปวัฒนธรรม (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ

๓๐,๓๑ ตุลาคม และ ๖,๗,๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐
หอศิลป์ พีระศรี กรุงเทพ

กำกับการแสดง :

คำรณ คุณะดิลก

นักแสดง
ปรีดี นิติธร เยี่ยมสมบัติ
ทรง ไตรรัตน์ เฑียรฆชาติ
แปลก นิมิตร พิพิธกุล
ประยูร, สายสีมา นันทฤทธิ์ พัฒนสุวรนันทร์
พลอย วัลลภา อิ่มในพงษ์
ผู้บรรยาย วิไล ลีนะเสจริญกุล
ผู้บรรยาย สุวรรณี นำพิทักษธ์ชัยกุล
พูนศุข สุวรรณี กัลยาณสันต์
ผู้เล่าเรื่อง พิมพกา โตวิระ
เล็ก จันทร์ช่วง องค์ศิริวิทยา
พหล ยิ่งยอดก มัญชุวิสิฐ
มโน สุเมธ นุรักษณ์

ทีมงาน :

ผู้จัดการทั่วไป วิทเยนทร์ มุตตามระ
ศิลปกรรม วินัย สัตตะรุจาวงษ์
ประชาสัมพันธ์ วินัย สัตตะรุจาวงษ์, อัญชนา สุนทรพิทักษ์, สิริปรียารี บุณยรัตพันธุ์
ฝ่ายการแสดง ดวงดาว คำพุท, กิตติพร ใจบุญ, พรรณวดี จันโทลิก, ยุพา พิพัฑน์พวงทอง, เสาวนีย์ ดุษฎีสุรพจน์
แสง ปิยฉัตร ประยูรเวช
เสียง ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์

No comments: