19 August 2009

Make it fake but real


Make it fake but real

บทสัมภาษณ์และเขียนโดย วรัญญู อินทรกำแหง

จากนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนตุลาคม ปี 2549


คำรณ คุณะดิลก
ผู้ก่อตั้ง ”พระจันทร์เสี้ยวการละคร” ปี 2518 หลังเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 คำรณเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เป็นนักแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับคณะละคร Theatre de la Mandragore ปัจจุบันมีผลงาน Re-stage เรื่องความฝันกลางเดือนหนาว จัดแสดงในช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์


ละครคือความพยายามย่อส่วนชีวิตของมนุษย์
มันไม่ใช่ของจริง แต่ก็ไม่ใช่ของปลอม
เราทุกคนเคยเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็กๆ
มนุษย์ทุกคนเป็นนักแสดงได้ทั้งนั้น เด็กผู้ชายเล่นเป็นตำรวจจับผู้ร้าย เด็กผู้หญิงเล่นขายข้างแกง ตอนนั้นเราเชื่อในบทบาทสมมตินั้นจริงๆ แต่เมื่อเราโตขึ้น มนุษย์ทำส่วนนี้หายไป เพราะเราพยายามฟอร์มบุคคลิกภาพขึ้นมา
ความขัดแย้งเป็นพลังขับเคลื่อนที่จำเป็น
เพราะความขัดแย้ง เราจึงมองเห็นอุปสรรคและความพยายามของมนุษย์ในการต่อสู้กับอุปสรรคนั้น ก่อให้เกิด Dramatic Tension อันเป็นความงาม อันเป็นสุนทรียะ
เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งไหนมีความหมายอย่างแท้จริง
เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะมีความหมาย นักแสดงไม่ใช่คนธรรมดาที่ขึ้นไปอยู่บนพื้นที่ว่างเปล่าที่เรียกว่าเวที แต่ต้องเดินผ่านพิธีกรรม หรือ Ritual Behavior เหมือนกับการที่เราทำอะไรเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะฉะนั้นทุกความเคลื่อนไหว ทุกการกระทำ จึงเต็มไปด้วยความหมาย
สตานิลาฟสกี้นักการละครชาวรัสเซีย
กล่าวว่า “เวลาเป็นนักแสดงคุณต้องรักศิลปะที่มีอยู่ในตัวของคุณ ไม่ใช่รักตัวตนของคุณที่อยู่ในศิลปะ” คุณต้องเข้าใจก่อนว่าตัวตนเป้นแค่สิ่งสมมติหรือภาพหลอน การยืนอยู่บนเวทีแล้วรู้สึกอาย ไม่รู้จะเอามือไปวางไว้ไหน เป็นเพราะเรายึดถือกับตัวตนหรืออัตตาของตนเอง
นักแสดงที่ดีต้องเข้าใจและเข้าถึงภาวะของอนัตตาเป็นครั้งคราว
แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยการฝึกฝน ถามว่าฝึกหนักขนาดไหน ก็พอๆกับคนที่ฝึกสมาธินั่นแหละ
ศิลปะแขนงอื่นอย่างงานจิตรกรรมหรือปฏิมากรรม
พยายามเคลื่อนเข้าไปสู่นามธรรม แต่สิ่งที่เราพยายามทำ คือทำเรื่องที่เป็นนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับคนดู
สำหรับงานเขียน คุณนั่งอยู่ในห้อง เขียนงานเสร็จปุ๊บ เซ็นต์ชื่อ แค่นี้ก็สมบูรณ์แล้ว แต่ละคร คุณซ้อมอย่างไรก็ไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ เพราะมันไม่เหมือนจังหวะของการสื่อสารตอนที่มีคนดูเกิดขึ้น
สไตล์เป็นสิ่งที่เรานำมารับใช้การสื่อสาร
เนื้อหาเป็นตัวกำหนดสไตล์ เรื่องบางเรื่องถ้านำเสนอในแนวสมจริง ก็จะมีความยาวมากเพราะต้องเสียเวลาในการสร้างและพัฒนาบุคคลิกของตัวละคร ถ้าไม่มีเวลา 3 ชั่วโมง อย่าง Death of Salesman หรือละครของเชคอฟก็ต้องหาการสื่อสารใหม่
เราไม่ได้ทำละครการเมือง การเมืองต่างหากมายุ่งกับละคร
ในละครมีตัวละคร และตัวละครก็คือมนุษย์ที่อาจมีปัญหาภายในตัวเอง ปัญหาภายในสังคม หรือปัญหาระหว่างกลุ่มสังคม จึงหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือการเมือง
คนเราไม่มีใครเป็นคนดีตลอด 24 ชั่วโมง บางทีก็อาจเฉไฉไปได้
แต่ดาวเหนือก็ยู่ตรงนั้น ถ้าเฉไป เราก็แค่กลับมาเดินตามทิศทางเดิม คนดูรู้สึกอย่าง ที่เราอยากให้เขารู้สึกขณะที่อยู่ในโรง แต่ภ้าออกไปแล้วเขาจะลืมมัน ก็ช่วยไม่ได้ อย่างน้อยให้เขารู้ว่ามันมีมันเกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้ก็เพียงพอแล้ว เผื่อวันหนึ่งมีอะไรที่เขาอาจช่วยเหลือคนอื่นได้ สิ่งที่เราทำมันก็ไม่สูญเปล่าหรอก
พูดคำว่า “สลัม” แล้วให้คุณนึกถึงคำ 3 คำ
คุณนึกถึงอะไรบ้าง น้ำเน่า ข่มขืน ยาเสพติด ถามว่าในสลัมมีครอบครัว มีความรัก มีความสุขไหม คนไม่ค่อยนึกถึงกันนะ เพราะมันถูกให้ความหมายตามการรับรู้ซ้ำๆ ทำนองเดียวกัน เมื่อพูดถึงศิลปะการละคร คนเรามักนึกถึงแต่ความบันเทิง มันถูกแย่งชิงความหมายไป
โลกนี้ไม่ได้เป็นของหงษ์แต่เพียงผู้ดียว
กาก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมด้วย เมื่อถูกแย่งชิงความหมายไป เราต้องสร้างความหมายใหม่ เราไม่ได้มีหน้าที่ทำตลก หรือสร้างความพอใจเหมือนโสเภณี เราอยากคุยกับคนดู แต่เราอยากเป็นคู่สนทนาที่เวลาเขามีทุกข์ หรือสงสัยว่ามนุษย์เป็นอย่างไรแล้วมาคุยกับเรา ถ้าต้องการคุยเรื่องเดอร์ตี้โจ๊กก็ไปคุยกับคนอื่น แต่วันหนึ่งคุณก็น่าจะมีเพท่อนไว้หลายๆแบบนะ
คุณอยากกินโจ๊กที่เอาเข้าปากแล้วไม่ต้องเคี้ยวตลอดไปไหม
อีกหน่อยฟันฟางคุณจะหล่นหมด เพราะฟังก์ชั่นมันมีไว้ให้ใช้งาน ฟังก์ชั่นของสมองก็มีไว้ให้ใช้ความคิดเหมือนกัน ไม่ลองเคี้ยวหน่อยล่ะ เคี้ยวแล้วคุณอาจจะชอบรสชาติมันก็ได้
ก็เหมือนกับการดูภาพเขียน คุณไม่ต้องดูรู้เรื่องก็ได้
แต่ควรจะรู้ว่ารู้สึกอย่างไร การที่ผู้ชมจะสามารถชื่นชมซาบซึ้งกับงานศิลปะได้ ต้องอาศัยการเติบโตร่วมกันระหว่างศิลปินและผู้ชม
แม้เราเห็นการทำลายล้างเกิดขึ้นตลอดเวลา
แต่ถ้ามนุษย์เกิดมาเพื่อที่จะเป็นผู้ทำลายจริง ป่านนี้อะไรๆคงหมดไปนานแล้ว ผมยังมองในแง่ดีว่ามนุษย์สามารถเติบโตต่อไปได้ และในยุคต่อไป มนุษย์จะมองเห็นถึงภารกิจในการค้นหาว่าเราเกิดขึ้นมาทำไม
ศิลปะการละครไม่มีทางหายไปจากโลกนี้
อนาคตโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ Virtual Reality ทั้งโลกไซเบอร์ของอินเตอร์เน็ต หรือต่อไปอาจจะมี Virtual Make Love แต่สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงจำแลง สิ่งที่เราขาดและโหยหาคือ Reality ศิลปะการละครเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์สามารถจับกุมความจริงเอาไว้ได้

หมายเหตุ:
ตอนนี้เรากำลังอพัเดทเว็บไซด์ พระจันทร์เสี้ยว มีข้อมูลรีวิวและบทความเข้ามาเพิ่มเติม และบทสัมภาษณ์นี้ก็เพิ่งจะเพิ่มเข้ามา เลยนำคำคมของครูมาลงไว้ให้ได้อ่านกัน


No comments: